posttoday

ธุรกิจรายย่อยญี่ปุ่นแห่ปิดกิจการ เหตุไร้ทายาทสืบทอด

04 ตุลาคม 2559

2 ใน 3 ของเจ้าของกิจการต่างขาดผู้สืบทอด กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเอกชนญี่ปุ่น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

สํานักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ธุรกิจรายย่อยของญี่ปุ่นปิดตัวลงจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2017 ธุรกิจรายย่อยปิดตัวโดยสมัครใจไปมากกว่า 2.6 หมื่นแห่ง ซึ่งมากกว่าตัวเลขกิจการล้มละลายนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ที่มากกว่า 2.5 หมื่นแห่ง ขณะที่จำนวนสตาร์ทอัพยังคงน้อย แม้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ จะตั้งเป้าเพิ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม

“สุขภาพของผมย่ำแย่ลง และผมไม่สามารถหาผู้สืบทอดได้ และการดำเนินการธุรกิจก็ไม่ดี” ทากายาสึ วาตานาเบะ วัย 72 ปี ซึ่งตัดสินใจปิดธุรกิจผลิตชอล์กในนาโงยา หลังจากดำเนินกิจการมามากกว่า 80 ปี กล่าว โดยวาตานาเบะขายเทคโนโลยี เครื่องจักร และตราสินค้าให้กับบริษัทจากเกาหลีใต้

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ หรือทันคัน ไตรมาส 3 พบว่า ผู้ผลิตรายย่อยคาดว่าจะปรับลดการลงทุน 9% สำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2017 ย่ำแย่ยิ่งกว่าผลสำรวจของรอยเตอร์สที่คาดว่าจะลดลง 8.4%

การปิดกิจการลงของธุรกิจรายย่อยจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากธุรกิจรายย่อยมักเป็นผู้รับช่วงสัญญาจ้างจากธุรกิจรายใหญ่ และยังคิดเป็นสัดส่วนการจ้างงาน 7 ใน 10 ของทั้งหมดอีกด้วย

“ในช่วง 20 ปีมานี้ ภาวะเงินฝืดกดดันความต้องการทำธุรกิจ ธุรกิจหลายแห่งไม่ได้ประโยชน์จากอาเบะโนมิกส์” มาซาชิ เซกิ จากโตเกียว โชโก รีเสิร์ช กล่าว

กดดันเอกชนญี่ปุ่นหนีนอก

ยูมิ ทานากะ จากเทย์โกกุ ดาต้าแบงก์ บริษัทวิจัยเครดิต เปิดเผยว่า อายุเจ้าของกิจการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 59.2 ปี เมื่อเทียบกับ 54 ปีที่แล้ว เมื่อปี 1990 ขณะที่ 2 ใน 3 ของเจ้าของกิจการต่างขาดผู้สืบทอด กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเอกชนญี่ปุ่น และทำให้ธุรกิจรายใหญ่มองหาคู่สัญญาจ้างใหม่จากต่างชาติ

นอกจากนี้ในบางภาคส่วน เช่น กิจการก่อสร้าง โรงพยาบาลขนาดเล็ก ผู้ผลิตสาเก ยังขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับปัญหาเจ้าของกิจการที่อายุเพิ่มขึ้น

“จากรถยนต์ไปถึงอิเล็กทรอนิกส์ หลายบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างเริ่มหาคู่สัญญาจ้างจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ยิ่งเกิดสภาพกลวงในอุตสาหกรรม และกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี” ทานากะ กล่าว โดยสภาพกลวงดังกล่าวหมายถึงการถดถอยของภาคอุตสาหกรรมจากการที่ภาคอุตสาหกรรมต่างไปหาข้อได้เปรียบ เช่น แรงงานราคาถูกในต่างประเทศ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจ โดยโทชิอากิ ฟุนาคุโบะ ประธานของโชวะ เซย์ซากุโช ผู้ผลิตเครื่องมือกล ซึ่งบุตรชายต้องการสืบทอดกิจการต่อ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีที่เหนือกว่าเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้อยู่รอดได้ ขณะที่ฮิโตชิ อิวาอิ วัย 80 ปี เจ้าของโรงงานในกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า โรงงานรายย่อยหลายแห่งสามารถอยู่รอดได้ ด้วยการผลิตให้มีคุณภาพสูงหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความพิเศษ

เชื่อมั่นรายใหญ่ยังไม่ฟื้น

นอกเหนือไปจากมุมมองของธุรกิจรายย่อยแล้ว ทันคัน ยังพบอีกด้วยว่า ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ที่ +6 จุด ซึ่งเท่ากับไตรมาสก่อนและยังต่ำกว่าที่รอยเตอร์สคาดการณ์เอาไว้ที่ +7 จุด ขณะที่ไตรมาส 4 บีโอเจคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ +6 จุด เช่นเคย ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ยังคาดการณ์อีกด้วยว่าการเติบโตจะขยายตัว 6.3% ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2017 ซึ่งต่ำกว่าผลสำรวจของรอยเตอร์สที่ปรับตัวขึ้น 6.8%

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคการผลิตของญี่ปุ่น จัดทำโดยไอเอชเอส มาร์เก็ตและนิกเกอิ เดือน ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.ที่อยู่ที่ 49.5 จุด โดยดัชนีดังกล่าวผ่านเส้นแบ่งที่ 50 จุด ซึ่งแสดงถึงการขยายตัวและนับเป็นครั้งแรกที่พีเอ็มไอสูงกว่า 50 จุด ในรอบ 7 เดือน

นอกจากนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นเดือน ก.ย.ยังปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน อยู่ที่ 51.1 จุด มากกว่า 47.2 จุดในเดือนก่อนหน้า แม้ในยอดรวมจะปรับตัวลดลง

ขณะที่มุมมองในภาคบริการปรับตัวลดลงอยู่ที่ +18 จุด จาก +19 จุดในไตรมาส 2 ซึ่งแม้จะเทียบเท่ากับที่รอยเตอร์สคาดการณ์เอาไว้ แต่นับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาส 3 และแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2014 ขณะที่ไตรมาสหน้ายังมีแนวโน้มลดลงเหลือ +16 จุด อีกด้วย

โคทาโร ทามูระ นักวิจัยเอเชียของมิลเกน อินสทิทิวต์ สถาบันคลังสมองในแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนของญี่ปุ่นถือเงินสดรวมกันมากถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 208 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 125% ของขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หากนำมาใช้จ่ายลงทุน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดันการใช้จ่ายของภาคเอกชนในการลงทุนเทคโนโลยีหรือเพิ่มค่าตอบแทนแก่พนักงาน

ภาพ...เอเอฟพี