posttoday

ฮิลลารี-ทรัมป์เปิดศึก ชูความมั่นคงต้านก่อการร้าย

21 กันยายน 2559

เหตุก่อการร้ายในสหรัฐเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดียกเรื่องความมั่นคง-นโยบายต่างประเทศมาเรียกคะแนนเสียงอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในสหรัฐอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นการเปิดเวทีให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้ง ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ยกเรื่องความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศมาเรียกคะแนนเสียงอีกครั้ง หลังช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าทั้งสื่อและฝ่ายการเมืองต่างปลุกปั่นประเด็นเรื่องส่วนตัว อย่างอาการป่วยหรือเรื่องความน่าเชื่อถือ

แทบจะทันทีหลังเกิดเหตุระเบิดที่นิวยอร์ก ทรัมป์ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการด้านความมั่นคงที่เข้มงวดขึ้นและเฝ้าระวังผู้คนที่มาจากประเทศมุสลิม รวมถึงได้เชื่อมโยงการควบคุมผู้อพยพเป็นความมั่นคงของสหรัฐโดยตรง

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ผู้สมัครฝีปากกล้าจากรีพับลิกัน กล่าวโจมตีการบริหารของฮิลลารี และประธานาธิบดี บารัก โอบามา ในเรื่องสงครามอิรักและการรับผู้อพยพเข้ามาเป็นอันตรายในสหรัฐ ซึ่งก็อาจจะเติมเชื้อความหวาดกลัวในหมู่ชาวอเมริกันในขณะนี้ได้

ส่วนฮิลลารี ก็จับความหวาดกลัวของประชาชนขึ้นมาในอีกทางหนึ่ง โดยโจมตีว่า ทรัมป์กระตุ้นให้คนมุสลิมต่อต้านและต้องการก่อสงครามกับชาติตะวันตก ซึ่งทำให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถระดมคนเข้าร่วมได้มากขึ้น

เหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 7 สัปดาห์หลังจากนี้ อาจจะส่งแรงกระเพื่อมประเด็นเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยมากกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายคาดว่าจะเป็นประเด็นหลักในเวทีอภิปรายระหว่างผู้สมัครทั้งสองอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ลองไอซ์แลนด์ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้

ทุกฝ่ายจะหันมาสนใจต่อนโยบายและวิธีรับมือแผนก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสหรัฐ ซึ่งอาจกลายเป็นส่วนเรียกคะแนนผู้ที่ยังลังเลหรือดึงฐานเสียงจากอีกฝ่ายได้ อีกทั้งจะสร้างมุมมองของผู้ลงคะแนนต่อพรรคต้นสังกัด

นิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า ฮิลลารีมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าวมากกว่าผู้สมัครพรรคเดโมแครตที่ผ่านมา เนื่องจากผลสำรวจความเห็นชี้ว่า ชาวอเมริกันเชื่อมั่นในฮิลลารีต่อประเด็นดังกล่าวสูงกว่าทรัมป์มาก ทำให้ฮิลลารียินดียกเรื่องนี้ขึ้นมา ดึงโมเมนตัมที่เสียไปกับข่าวปัญหาสุขภาพก่อนหน้า

นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของฮิลลารี ก็สะท้อนนโยบายการทหารได้เป็นรูปธรรมมากกว่า โดยเคยเรียกร้องเขตห้ามบินในซีเรีย เพิ่มกำลังทหาร และเรียกร้องบริษัทเทคโนโลยีร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งยิ่งได้เปรียบกว่าทรัมป์ ที่ประชาชนยังคลางแคลงใจถึงความสามารถเป็นผู้นำกองทัพ ทั้งนี้ ทรัมป์เคยแสดงตัวต่อต้านองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

จากเหตุผลข้างต้นตอกย้ำว่า ไม่ว่าผู้ลงคะแนนจะไม่ยอมรับฮิลลารีในเรื่องความโปร่งใสมากเพียงใด แต่ก็มีความสามารถเป็นผู้จัดการนโยบายต่างประเทศและภัยคุกคามได้ดีกว่าทรัมป์

อีวาน แมคมูลิน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ระบุว่า ชาวอเมริกันจะพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์ ซึ่งทั้งสองยังไม่ได้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมทั้งหมด แต่ทรัมป์ไม่มีคุณสมบัติข้อใดเลย

ตั้งข้อหาตัวการวางระเบิด

เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหา 5 ข้อ ซึ่งรวมถึงพยายามฆ่าและครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย กับอาเม็ด ข่าน ราฮามี อายุ 28 ปี พลเมืองสหรัฐเชื้อสายอัฟกานิสถาน หลังปะทะกันที่นิวเจอร์ซีย์ระหว่างปฏิบัติการจับกุม ทำให้มีตำรวจบาดเจ็บ 1 ราย เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา และกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนถึงแรงจูงใจและผู้ที่อาจจะมีส่วนช่วยก่อเหตุ

ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ราฮามีเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุระเบิดที่นิวยอร์กและสวนซีไซด์ ในนิวเจอร์ซีย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิด 5 ชิ้นที่พบที่สถานีรถไฟเอลิซาเบธ นอกจากนี้ผู้ต้องสงสัยยังอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังของสหรัฐอยู่แล้ว ด้านผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิดเชื่อว่า ราฮามีได้รับการฝึกติดตั้งอาวุธแสวงเครื่องที่สลับซับซ้อน

นิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยอ้างคนรู้จักกับราฮามี ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยมีพฤติกรรมแปลกไปและอุทิศตัวต่อศาสนาอย่างมาก หลังเดินทางกลับจากอัฟกานิสถาน ด้านแหล่งข่าวจากทางการระบุว่า ราฮามีเคยเดินทางไปบริเวณศูนย์กลางของกลุ่มตาลีบันในปากีสถานเป็นเวลานาน 3 เดือน ในปี 2011 และอีกหลายครั้ง ก่อนจะกลับมาอยู่สหรัฐในปี 2014

นอกจากนี้ ราฮามีและครอบครัวยังมีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจในเอลิซาเบธหลายครั้ง โดยเมื่อปี 2011 ครอบครัวของราฮามีได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจในพื้นที่ว่าถูกข่มขู่จากเรื่องศาสนา