posttoday

ภาคเกษตรญี่ปุ่นวิกฤต ขาดคนหันพึ่งแรงงานเถื่อน

24 สิงหาคม 2559

ภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเข้าสู่วัยสูงอายุ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเข้าสู่วัยสูงอายุ และประชาชนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นไม่ต้องการทำงานในภาคการเกษตร

กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จำนวนเกษตรกรญี่ปุ่นลดลงเกือบครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2000 อยู่ที่จำนวนน้อยกว่า 2 ล้านคน ในปี 2016 โดยเกษตรกรสัดส่วน 2 ใน 3 มีอายุมากกว่า 65 ปี

ทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนรินชูกิน รีเสิร์ช เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร มีแนวโน้มส่งผลกระทบและทำให้การขยายตัวด้านส่งออกของญี่ปุ่นเกิดความไม่คงที่

“ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่สนใจทำงานเกษตรกรรม เพราะการเป็นมนุษย์เงินเดือนตามบริษัทง่ายกว่า คุณเป็นเกษตรกรไม่ได้แน่ๆ ถ้าคุณไม่มีใจรัก” มินามิ กล่าว

จำนวนเกษตรกรญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลงอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามผลักดันภาคการเกษตรของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น โดยอาเบะมองว่าภาคเกษตรกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และกระตุ้นให้เกษตรกรหันไปส่งออกสินค้าเกษตรพรีเมียมสู่ตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2015 โดยข้อมูลจากสำนักข่าวเกียวโดระบุว่า การส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และป่าไม้ อยู่ที่ 6.69 แสนล้านเยน (ราว 2.31 แสนล้านบาท) ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. ทุบสถิติปี 2014 ที่ 6.11 แสนล้านเยน (ราว 2.11 แสนล้านบาท) เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ยังต้องการเสนอให้มีการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) เพื่อเปิดทางให้เกษตรกรญี่ปุ่นมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการผลิต

ด้านสำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนเพิ่มงบประมาณปี 2016 โดยจะทุ่มเงิน 1.41 ล้านล้านเยน (ราว 4.87 แสนล้านบาท) ในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และเพื่อความสะดวกในการส่งออกสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น

ภาคเกษตรหันพึ่งแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีโครงการเปิดรับอาสาสมัครต่างชาติให้เข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรมและใช้ชีวิตภายในท้องถิ่น โดยเน้นที่การทำงานในฟาร์ม (วูฟ) ซึ่งในปัจจุบันมีการดำเนินงานโครงการดังกล่าวในกว่า 20 ประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ฟาร์มหลายแห่งหันไปพึ่งพาการจ้างแรงงานผิดกฎหมายจากต่างชาติ ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่า แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติ แต่บริษัทหลายแห่งได้ลักลอบจ้างงานผ่านโครงการฝึกอบรมอาชีพ

ข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี 2013 แรงงานต่างชาติญี่ปุ่นราว 7,000 คน เข้ามาทำงานในภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากในปี 2007

ขณะที่เมื่อปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่ามีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในภาคการเกษตรประมาณ 1,700 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ โดยแรงงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ไทย และเวียดนาม และมักทำงานในจังหวัดชิบะและอิบารากิ ซึ่งสามารถเดินทางได้ง่ายจากกรุงโตเกียว 

ทั้งนี้ กระทรวงฯ คาดว่า จำนวนแรงงานผิดกฎหมายมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายจำนวนประมาณ 6 หมื่นคน นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.

ดันเทคโนโลยีหนุนเกษตรกรรม

สำนักข่าวเจแปนนิวส์รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการใช้ดาวเทียมที่มีระบบระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกความแม่นยำสูง (คิวแซดเอสเอส) มาช่วยในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร

รายงานระบุว่า แผนการใช้ระบบดาวเทียมดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 ส.ค. พร้อมมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งการใช้ระบบดาวเทียมคาดว่าจะดำเนินงานเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2018 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าใช้ระบบการระบุพิกัดในการควบคุมให้รถแทรกเตอร์เคลื่อนที่ได้อย่างอัตโนมัติ

แผนการดังกล่าวมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรภายในประเทศ เนื่องจากการใช้ระบบดาวเทียมจะเอื้อต่อการรวมพื้นที่การเกษตรขนาดเล็กให้กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเพิ่มความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับภาคการเกษตรภายในท้องถิ่น รวมถึงช่วยชดเชยปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการทำงานให้เกษตรกร

ทั้งนี้ ภายใต้ระบบดังกล่าว ดาวเทียมคิวแซดเอสเอสจะส่งสัญญาณไปยังรถแทรกเตอร์และเครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ในฟาร์ม เพื่อทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มกระบวนการอัตโนมัติในการเตรียมที่ดินเพาะปลูก หว่านเมล็ดพืช ถอนวัชพืช เก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงทำงานอื่นๆ