posttoday

วิกฤตดอลลาร์?

26 พฤศจิกายน 2552

โดย...ธนพล ไชยภาษี

โดย...ธนพล ไชยภาษี

ดูเหมือนว่าสหรัฐจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทุกวันๆ อย่างเมื่อวานนี้ เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ก็อ่อนค่าลงไปมากที่สุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ 86.27 เยนต่อเหรียญสหรัฐไปแล้ว เป็นการอ่อนค่าที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 1995 โน่นครับ
เงินดอลลาร์อ่อนค่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก โดยประการแรกก็มาจากสิ่งที่รู้กันดีอยู่ คือเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ คือระหว่าง 00.25% ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกถึงปัญหาเงินเฟ้อขึ้น คนเลยขายทิ้งเงินดอลลาร์ไปหาตลาดลงทุนอื่นกันหมด

ปัจจัยต่อมา เป็นผลมาจากรัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเป็นผลมาจากการทุ่มเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลก่อนหน้านี้ ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐมีบัญชีติดลบมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนั้น ยังมีทีท่าว่าแผนการปฏิรูประบบสาธารณสุขของสหรัฐจะผ่านฉลุยอีก ซึ่งการปฏิรูปนี้จะใช้งบประมาณอีกเกือบๆ 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นงบผูกพันถึง 10 ปี หมายความว่าในช่วง 10 ปีนี้ สหรัฐจะเจอกับการขาดดุลงบประมาณต่อไป
2 ปัจจัยที่ว่าทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องทุกวัน และอาจจะกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกับความหวาดกลัวกับวิกฤตฟองสบู่ในเอเชีย

ทองคำคือตัวอย่างสำคัญของผลกระทบจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ที่ทำให้ราคาทองพุ่งกระฉูดกันทุกวัน เพราะทั้งโลกไม่มั่นใจว่าถือดอลลาร์แล้วปลอดภัย

ตลาดทองคำจึงกลายเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่า นอกจากนักค้าทองแล้ว ตอนนี้นักเก็งกำไรพวกเฮดจ์ฟันด์ก็เข้าไปลุยในตลาดทองกันครึกโครม และล่าสุดธนาคารประเทศต่างๆ ก็แห่กันเข้าไปตุนทองคำกันมากขึ้นเสียด้วย มีเงินดอลลาร์เอาไว้ในมือนับวันก็จะยิ่งเหมือนกระดาษเปล่าไปทุกวัน

ว่ากันตามทฤษฎี เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกจะได้รับผลกระทบในทันที อย่างเช่น ไทย เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ศักยภาพการแข็งขันของสินค้าไทยในตลาดก็จะลดน้อยลง เพราะสินค้าไทยนั้นแพงขึ้น

แต่โชคยังดีครับที่เงินดอลลาร์สหรัฐนั้นอ่อนค่าลงกับเงินเกือบจะทุกสกุล ดังนั้น จึงทำให้ค่าเงินต่างๆ ในเอเชียที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับไทยจึงแข็งค่าเหมือนๆ กันเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

มีเพียงแต่เวียดนามเท่านั้นที่สวนทางกับชาติอื่น ด้วยการปรับลดค่าเงินตัวเองลง 5% เมื่อสองวันก่อนเพื่อสู้กับการเก็งกำไรค่าเงินด่อง งานนี้เวียดนามมีทั้งได้และเสีย แม้ว่าสินค้าเวียดนามในตลาดโลกจะถูกลง แต่ขณะเดียวกันเวียดนามก็จะต้องเจอกับการขาดดุลการค้ามากขึ้น เพราะเวียดนามนำเข้าสินค้าต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศในแต่ละปีมากมายมหาศาล ค่าเงินด่องยิ่งอ่อนยิ่งจะทำให้เวียดนามขาดดุลมากขึ้น

ส่วนญี่ปุ่นการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นเท่าใด เอกชนญี่ปุ่นก็จะยิ่งได้กำไรน้อยลงเท่านั้น เพราะญี่ปุ่นพึ่งพารายได้จากการขายสินค้าในต่างประเทศเป็นหลัก

แต่ที่น่ากลัวที่สุด เมื่อเงินดอลลาร์ยิ่งอ่อนลงธนาคารสหรัฐก็ยังกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำต่อไป ยิ่งเป็นอันตรายต่อโลกอีกครั้ง เพราะยิ่งจะทำให้การลงทุนลวงในตลาดหลักทรัพย์ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนพองตัวมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนจริงจากภาคเอกชนทั่วโลกนั้นกลับยังไม่กระเตื้องขึ้นตามภาวะฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในบางจุด โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน

เห็นไหมครับ ในท้ายที่สุดแล้ว ชะตากรรมเศรษฐกิจโลกก็ยังต้องผูกติดอยู่กับธนาคารกลางสหรัฐและกระทรวงการคลังสหรัฐที่ยังเป็นผู้กำหนดชะตา

 ...เหมือนเดิม !