posttoday

น้ำแข็งไซบีเรียละลาย ปลุกเชื้อโรคร้ายคืนชีพ

03 สิงหาคม 2559

ภาวะโลกร้อนเล่นงานไซบีเรีย ทำน้ำแข็งละลายปลดปล่อยเชื้อแอนแทรกซ์ที่ถูกแช่แข็งใต้ดินกลับมาระบาดอีกครั้ง

ภาวะโลกร้อนเล่นงานไซบีเรีย ทำน้ำแข็งละลายปลดปล่อยเชื้อแอนแทรกซ์ที่ถูกแช่แข็งใต้ดินกลับมาระบาดอีกครั้ง

ภาวะโลกร้อนเล่นงานรัสเซีย หลังอุณหภูมิสูงผิดปกติในไซบีเรีย ทำให้เพอร์มาฟรอส หรือพื้นดินในภาวะอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานหลายร้อยหลายพันปีเกิดการละลายเป็นครั้งแรก ปลดปล่อยเชื้อแอนแทรกซ์ที่ถูกแช่แข็งอยู่ใต้ดิน ออกมาระบาดในฝูงกวางเรนเดียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี

สำนักสาธารณสุขประจำภูมิภาคยามาโล เนเนสกี้ ทางตะวันตกของไซบีเรีย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกของรัสเซียราว 2,000 กม. เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีฝูงกวางเรนเดียร์ของชาวบ้านติดโรคแอนแทรกซ์ล้มตายแล้วไม่ต่ำกว่า 2,500 ตัว

เจ้าหน้าที่คาดว่าต้นตอของโรคมาจากอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงถึง 35 องศาเซลเซียสในไซบีเรีย ส่งผลให้ซากกวางเรนเดียร์ที่ตายจากการติดเชื้อเดียวกันเมื่อ 75 ปีที่แล้วและถูกฝังอยู่ใต้น้ำแข็งเริ่มละลาย ทำให้เชื้อแอนแทรกซ์ที่อยู่ในซากฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และแพร่ระบาดไปยังฝูงกวางเรนเดียร์ที่อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากต้องเผชิญกับอากาศร้อน

ต่อมาทางการได้สั่งให้ชาวบ้านที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์ไว้เป็นอาหารจำนวน 40 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เข้ารับการเฝ้าดูโรคในโรงพยาบาล เนื่องจากกลัวว่าชาวบ้านเหล่านี้อาจได้รับเชื้อแอนแทรกซ์เช่นกัน ภายหลังพบชาวบ้านติดเชื้อ 9 ราย รวมทั้งเด็กชาย 1 รายที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 2 วันก่อน ส่วนชาวบ้านที่เหลือถูกสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ระบาดแล้ว

หลังการระบาด ดมิทรี โคลีบิน ผู้ว่าการในพื้นที่แพร่ระบาดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสั่งให้ทำทุกวิถีทางเพื่อตัดตอนเชื้อร้าย รวมทั้งให้วัคซีนป้องกันโรคกับชาวบ้านและปศุสัตว์ที่เคยเดินทางสัญจรผ่านพื้นที่ดังกล่าว

ล่าสุด เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย ส่งผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยป้องกันการใช้สารเคมี สารกัมมันตรังสี และสารชีวภาพของกองทัพจำนวน 200 นาย เข้าไปยังพื้นที่แพร่ระบาดของไซบีเรียเพื่อเปิดห้องแล็บตรวจสอบพื้นดิน ตรวจจับการระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์ ตลอดจนจำกัดพื้นที่การระบาดและทำลายซากกวางเรนเดียร์อย่างถูกวิธี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ต้องลงไปล้างบางพื้นที่ที่มีกวางเรนเดียร์ตายครั้งใหญ่ที่สุดในที่ห่างไกลกลางทุ่งน้ำแข็งทุนดราของขั้วโลกเหนือ

ฟลอเรียน สแตมเลอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแลปแลนด์ ประเทศฟินแลนด์ แสดงความกังวลว่าเชื้อแอนแทรกซ์อาจระบาดจากยามาโล เนเนสกี้ไปยังพื้นที่อื่นทั่วคาบสมุทรยามาลของขั้วโลกเหนือ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นจุดศูนย์กลางที่ชาวบ้านใช้อพยพฝูงกวางและปศุสัตว์ ด้าน อันนา โปโปวา หัวหน้าหน่วยเฝ้าระวังปัญหาสาธารณสุขของรัสเซียซึ่งลงพื้นที่ไปตรวจสอบการระบาดครั้งนี้ด้วย ยืนยันว่าเชื้อแอนแทรกซ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไซบีเรียจะไม่แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นของรัสเซีย

ทั้งนี้ เชื้อแอนแทรกซ์ติดต่อจากการที่ผู้ป่วยได้รับสปอร์ของเชื้อผ่านการสัมผัสสัตว์ที่ติดโรคหรือรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อเข้าไป ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หรือสัตว์สู่คน โดยเชื้อร้ายชนิดนี้จะสร้างสปอร์ขึ้นมาเมื่อถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งและกลับคืนชีพอีกครั้งหลังจากน้ำแข็งละลาย ซึ่งจากรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่า เชื้อนี้ซ่อนตัวอยู่ในน้ำแข็งได้นานถึง 105 ปี

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลว่านอกเหนือจากเชื้อแอนแทรกซ์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาแล้ว การละลายของเพอร์มาฟรอสครั้งใหญ่ในไซบีเรียอาจทำให้เชื้อโรคในศตวรรษที่ 18 หรือ 19 กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ร่างของผู้ติดเชื้อถูกฝังไว้

ภาพ : เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com