posttoday

ตุรกีประกาศภาวะฉุกเฉิน 3 เดือน

21 กรกฎาคม 2559

ตุรกีเดินหน้าจับตัว-สั่งปลดผู้เกี่ยวข้องรัฐประหารแล้วกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่ ปธน.เออร์โดกัน ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน ด้าน"กูเลน"เรียกร้องสหรัฐปัดคำขอส่งตัว

ตุรกีเดินหน้าจับตัว-สั่งปลดผู้เกี่ยวข้องรัฐประหารแล้วกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่ ปธน.เออร์โดกัน  ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน  ด้าน"กูเลน"เรียกร้องสหรัฐปัดคำขอส่งตัว

ประธานาธิบดีเรเซฟ เตยิป เออร์โดกัน  ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน หลังทหารก่อการรัฐประหารล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดย ประธานาธิบดี เออร์โดกันระบุว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินมีเป้าหมายเพื่อเดินหน้ากำจัดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในแง่ของสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมของประเทศ ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีจับตัวและสั่งปลดทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา ข้าราชการ และอาจารย์รวมแล้วกว่า 5.9 หมื่นคน โดย บินาลี  ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีของตุรกี มองว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นการถอนรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้าย ขณะที่สำนักข่าว อนาโตลูของทางการตุรกี รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตุรกีจับกุมอาจารย์มหาวิทยาลัยราว 1.52 หมื่นคน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสั่งให้อธิการบดีจากทั้งมหาวิยาลัยรัฐและเอกชนเกือบ 1,600 คนลาออก เนื่องจากสงสัยมีความเกี่ยวข้องกับ เฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตอิหม่ามที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐ ที่ร่วมมือกับทหารและชนชั้นนำในประเทศก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 

ขณะเดียวกัน สภาอุดมศึกษาของตุรกียังสั่งห้ามบรรดาอาจารย์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ และเร่งให้บุคลากรด้านการศึกษาที่กำลังทำงานในต่างประเทศเดินทางกลับตุรกีโดยเร็ว พร้อมกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายของเฟตุลเลาะห์หรือไม่ และรายงานต่อรัฐบาลภายในวันที่ 5 ส.ค.

ด้าน วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ตุรกีได้ส่งเอกสาร 4 ฉบับ ที่ระบุว่ากูเลนอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารไปให้รัฐบาลสหรัฐ พร้อมกดดันให้สหรัฐส่งตัวกูเลน ระหว่างที่ประธานาธิบดี เรเซฟ เตยิป เออร์โดกัน ของตุรกี เจรจากับประธานาธิบดี บารัก โอบามา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.

ด้าน โอบามาให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือเออร์โดกันในการสืบสวนเกี่ยวกับความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกี แต่ย้ำว่าผู้นำตุรกีต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามรูปแบบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี จอช เอิร์นเนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า การตัดสินส่งตัวกูเลนกลับตุรกีหรือไม่จะต้องดำเนินการผ่านสนธิสัญญาระหว่างทั้งสองประเทศ และในขณะนี้สหรัฐกำลังพิจารณาเอกสารดังกล่าวที่ได้รับจากรัฐบาลตุรกี

ขณะเดียวกัน กูเลนเรียกร้องให้สหรัฐปฏิเสธคำขอส่งตัวจากรัฐบาลตุรกี โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างของรัฐบาลตุรกีว่ากูเลนอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องไร้สาระ

“ประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกีได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า จะใช้วิธีการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างอำนาจของตน และข่มเหงผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล” กูเลน กล่าว

รัฐบาลตุรกีขจัดกบฏ

จับทหารกว่า               7,500 คน
จับ-ปลดผู้พิพากษา        3,000 คน
จับอาจารย์                 1.52 หมื่นคน
ถอนใบวิชาชีพครูเอกชน  2.1 หมื่นคน
ปลดตำรวจ                 8,000 คน
ปลดอธิการบดี             1,577 คน
ปลดเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง 1,500 คน
ปลดนักการศาสนา        492 คน
ปลดเจ้าหน้าที่กระทรวงนโยบายสังคม   393 คน
ปลดพนักงานสำนักนายกรัฐมนตรี 257 คน
ปลดเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง 100 คน