posttoday

เอเชียรับมือเบร็กซิต จุดเปลี่ยนนโยบายการเงิน

27 มิถุนายน 2559

ความผันผวนต่อตลาดทุนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป หลังจากฝ่ายสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษชนะไปในการทำประชามติ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ความผันผวนต่อตลาดทุนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป หลังจากฝ่ายสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต ชนะไปในการทำประชามติ ส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างหนักจนสูญมูลค่าไปมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 70 ล้านล้านบาท)

หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า สำหรับประเทศที่ต้องรับศึกหนักจากเบร็กซิตในเอเชียหนีไม่พ้นญี่ปุ่น ที่ค่าเงินเยนซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงในวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือน ส่งผลให้ดัชนีนิกเกอิ 225 ร่วงตามลงไป 8% ซึ่งนับเป็นการสูญเสียมูลค่าในรอบ 1 วันที่มากที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2011 หรือช่วงเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น

ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจะกระทบกับผลประกอบการของภาคเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมส่งออกและได้เปรียบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้า โดยค่าเงินเยนที่อ่อนค่ายังเป็นจุดแข็งของนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น หรืออาเบะโนมิกส์อีกด้วย

ทากูจิ โอคุโบ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เจแปน แมโคร แอดไวเซอร์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 95 เยน หรือ 90 เยน เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ โดยเงินเยนที่อ่อนค่าลงไม่ได้ส่งผลต่อกำไรของบริษัทเอกชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายอาเบะโนมิกส์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยภายหลังการประกาศผลประชามติของอังกฤษ ว่า บีโอเจเตรียมตัวที่จะดำเนินมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาด

แม้คุโรดะจะไม่ได้ระบุมาตรการที่ชัดเจน แต่ โยอิจิ โคดามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเมจิ ยาสึดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ คาดการณ์ว่าบีโอเจอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงติดลบมากขึ้นจากเดิมที่อยู่ที่ 0.1% แม้จะยังไม่เห็นผลของนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนับตั้งแต่ประกาศใช้ในเดือน ม.ค.

ขณะที่หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและบีโอเจจะไม่ปล่อยให้ค่าเงินเยนแข็งค่า และจะเข้าแทรกแซงค่าเงินดังกล่าว โดยไม่สนคำวิพากษ์วิจารณ์ของต่างชาติ

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ชาติ (จี7) โดยเฉพาะสหรัฐ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการดำเนินมาตรการเพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นการเข้าแทรกแซงเพื่อให้เอกชนของญี่ปุ่นได้เปรียบเหนือคู่ค้าที่ต้องเสียเปรียบ

โทชิฮิโระ นากาฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท วิจัยไดอิจิ ไลฟ์ เปิดเผยว่า หากบีโอเจมีความสามารถในการออกมาตรการฉุกเฉิน บีโอเจอาจประกาศได้ก่อนกำหนดการประชุมวาระปกติในวันที่ 28-29 ก.ค.ที่จะถึงนี้ 

แบงก์ชาติอื่นไร้แผนกระตุ้นเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ธนาคารสโกเทียแบงก์ จากแคนาดา คาดการณ์ว่าอาจไม่มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการฉุกเฉินนอกเหนือกำหนดการประชุมธนาคารกลาง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยหลายประเทศในเอเชียอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว จนไม่มีช่องมากพอให้ผ่อนคลายนโยบายทางการเงินนอกเหนือกำหนดการ

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็น 1.25% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อรองรับการปรับโครงภาคเอกชนก่อนหน้านี้และกระตุ้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนาคารกลางอินโดนีเซียลดดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 6.5% พร้อมยืนยันจะมีการปรับลดอีกในอนาคต

ด้านค่าเงินวอนของเกาหลีใต้กลายเป็นค่าเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในเอเชียเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสโกเทียแบงก์ คาดการณ์ว่าค่าเงินวอนอาจจะอ่อนค่าลงไปแตะ 1,200 วอน/เหรียญสหรัฐ ได้ เมื่อเทียบกับ 1,179.12 วอน/เหรียญสหรัฐ ในวันประกาศผลการทำประชามติ

อย่างไรก็ตาม ยูอิลโฮ รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เกาหลีใต้มีมาตรการเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนของตลาด ในขณะที่ จอห์น เอ็ดเวิร์ดส สมาชิกผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (อาร์บีเอ) ระบุว่า ความผันผวนที่เกิดจากการทำประชามติ เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวต่อตลาดทุนโลก และไม่มีผลมากเพียงพอจะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลีย แม้จะกระทบกับประเทศอื่นทั่วโลก

คาดจีนหั่นทุนสำรองแบงก์พาณิชย์

ธนาคารยูบีเอส คาดการณ์ว่า พีบีโอซีอาจประกาศลดสัดส่วนการกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (อาร์อาร์อาร์) ในฐานะมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดทุนภายในประเทศ และจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าเงินหยวนดังกล่าวจะไม่ช่วยการส่งออกของจีน เนื่องจากแรงซื้อจากต่างชาติที่ลดลงไป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอียู

ด้าน ธนาคารเอเอ็นแซด ระบุว่า การปรับลดอาร์อาร์อาร์นอกจากจะช่วยสร้างเสถียรภาพแล้ว ยังจะได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ในการช่วยเหลือตลาดทุนโลกที่กำลังผันผวน

“จีนสามารถแสดงตนในฐานะประชากรโลกและส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือความเชื่อมั่นตลาด” เอเอ็นแซด ระบุ

แม้จีนจะสามารถรักษาเสถียรภาพค่าเงินได้ในวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่เป็นวันประกาศผลการทำประชามติของอังกฤษ โดย วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ค่าเงินหยวนร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ในการซื้อขายช่วงเช้าของวันที่ 24 มิ.ย. ก่อนที่จะคงที่หลังบรรดาธนาคารภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลจีน ซึ่งมักดำเนินการภายใต้คำสั่งของธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ต่างขายค่าเงินเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อค่าเงินหยวน

อย่างไรก็ตาม การเข้าแทรกแซงค่าเงินขัดต่อนโยบายการปล่อยเสรีค่าเงินหยวนให้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด โดยพีบีโอซีเองก็ยืนยันที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ค่าเงินหยวน และปล่อยให้ตลาดเป็นผู้กำหนดการเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวต่อไป แต่ในปัจจุบันวาระสำคัญควรเป็นการสร้างเสถียรภาพให้แก่ค่าเงิน

อาเซียนรับความผันผวนค่าเงิน

ค่าเงินในกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แข็งค่าขึ้นกันไปตามๆ กันเมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวสารอาเซียนบรีฟิง ค่าเงินด่องของเวียดนามแข็งค่าขึ้นไป 12.55% เทียบปอนด์ของอังกฤษ ตามมาด้วยค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าขึ้น 11.70% เช่นเดียวกับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นไปราว 11.60% เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

ขณะที่ด้านค่าเงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าขึ้นไป 7.54% เมื่อเทียบกับปอนด์อังกฤษ แม้ที่ผ่านมาค่าเงินริงกิตจะอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของมาเลเซีย ก่อนจะฟื้นตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยมาเลเซียขยายเวลาซื้อขายค่าเงินริงกิตเมื่อวันประกาศผลประชามติ และยืนยันว่า ตลาดภายในประเทศยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอ

“ภาคเอกชนในอาเซียนได้รับผลกระทบในวงจำกัดจากประชามติ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ดำเนินการอยู่ในสหราชอาณาจักร” สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) กล่าว

ขณะเดียวกัน สเตทสตรีทคอร์ป บริษัทการเงินสัญชาติอเมริกัน ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นในอาเซียนหลังการทำประชามติดังกล่าวจะดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม เอสแอนด์พี เปิดเผยว่า เอกชนในอาเซียนโดยเฉพาะในอินโดนีเซียจะประสบกับความยากลำบากในการรีไฟแนนซ์และขายหุ้นกู้ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ เนื่องจากค่าเงินในอาเซียนต่างอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ โดยค่าเงินริงกิตอ่อนค่าลง 3.91% เช่นเดียวกับค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงไป 2.49%

ด้านแคปปิตอลอิโคโนมิกส์ สถาบันที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจจากอังกฤษ ระบุว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียมีหุ้นกู้ระยะสั้นที่ออกในสกุลเงินต่างประเทศอยู่ โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีระดับหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศสูง และจากความผันผวนของตลาดจะทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องเดินหน้าเพื่อปกป้องค่าเงินในที่สุด

ภาพ...เอเอฟพี