posttoday

เศรษฐกิจเวเนฯหดหนัก! รัฐเทขายทองคำสำรอง-ส่อเบี้ยวหนี้

26 พฤษภาคม 2559

เวเนซุเอลาวิกฤตหนัก ด้านนักลงทุนบราซิลแห่หนีออกนอกประเทศ

เวเนซุเอลาวิกฤตหนัก ด้านนักลงทุนบราซิลแห่หนีออกนอกประเทศ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า ปริมาณทองคำสำรองของธนาคารกลางของเวเนซุเอลาลดลงไปแล้ว 16% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 เพิ่มความเสี่ยงว่า รัฐบาลอาจจะผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร ท่ามกลางความพยายามต่อสู่วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาลที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า ปริมาณทองคำสำรองของเวเนซุเอลาลดลงจาก 8.77 ล้านออนซ์ เมื่อสิ้นปี 2015 มาอยู่ที่ 7.4 ล้านออนซ์ ในเดือน มี.ค. หลังจากที่เมื่อปี 2015 มีปริมาณลดลงไปแล้วถึง 24.4% โดยทองคำสำรองถือเป็น 66% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่เวเนซุเอลาถืออยู่ ทั้งนี้ การลดลงดังกล่าวทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% สูงที่สุดในรอบ 30 ปี อยู่ที่ 1,229 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ (ราว 4.38 หมื่นบาท) เมื่อเวลา 9.21 น. ที่ตลาดสิงคโปร์

ด้านรองประธานาธิบดี มิกเกิล เปเรส อาบาด ระบุว่า จะยังคงใช้สินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและลดการนำเข้าสินค้า

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังคาดการณ์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะหดตัว 8% ในปีนี้ หลังจากหดตัว 5.7% ในปี 2015 และคาดว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 500%

ล่าสุด รัฐบาลประกาศขึ้นราคาแป้งข้าวโพดถึง 900% เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 190 โบลีวาร์ (ราว 681.10 บาท) ต่อกิโลกรัม หลังจากตรึงราคาไว้ 15 เดือน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่รัฐบาลใช้กับราคายา และอาหารขาดแคลนที่นำเข้า รวมทั้งอาจจะมีการปรับขึ้นราคาไก่และอาหารอื่นๆ ตามมา

ทั้งนี้ เวเนซุเอลาเผชิญปัญหาหนักจากภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ดึงให้อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 180% ในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ดับเบิ้ลยูอีจี บริษัทอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของบราซิล ระบุว่า บรรดาบริษัทสัญชาติบราซิลต่างพยายามหันไปลงทุนในประทศอื่นๆ เนื่องจากปัญหาวิกฤตทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขัดขวางการทำธุรกิจ

ดับเบิ้ลยูอีจีเปิดเผยว่า การลงทุนของบริษัทในปีนี้ 75% เป็นการลงทุนในหน่วยดำเนินการที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนของบริษัทในประเทศที่มากถึง 80% เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ผลการสำรวจความเห็นของธุรกิจ 670 แห่ง โดย เกตูลิโอ วาร์กาส สถาบันการศึกษาเอกชนระดับสูงในบราซิล เปิดเผยว่า ธุรกิจ 81% ระบุว่า ปัญหาทางการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บรรดาบริษัทไม่ต้องการลงทุนในประเทศ ตามด้วยสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจระดับมหภาค และสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นปัจจัยลบน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ต้องการหันไปลงทุนในต่างประเทศยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินเรียลที่ตกต่ำ ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น แม้จะมีแนวโน้มผลประกอบการที่ดีกว่า โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินเรียลอ่อนค่าลงมากถึง 43% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

ภาพ...เอเอฟพี