posttoday

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จ สู่ตัวเต็งอนาคตผู้นำสหรัฐ

15 พฤษภาคม 2559

การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถพลิกผันได้ตลอด และไม่สามารถดูถูกความชื่นชอบของประชาชนที่มีต่อทรัมป์ได้

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

เส้นทางสู่ประธานาธิบดีสหรัฐยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยการเลือกตั้งทั่วไปสหรัฐในครั้งนีคาดเดาได้ยากและยังเป็นหนึ่งในปีที่สนุกที่สุดปีหนึ่ง เนื่องจากมีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในนั้นคือการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตสามารถมาไกลได้ถึงเพียงนี้ จากเดิมที่เป็นผู้สมัครที่ใครๆ ต่างมองว่าเป็นเพียงแค่สีสัน

เกือบเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ทรัมป์อาจเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงเก้าอี้ผู้นำ ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตก็มีคะแนนนำทิ้งห่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันเข้าไปทุกที และการเมืองของสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อเลือกตัวแทนสู้ศึกประธานาธิบดี

จากผลสำรวจของซีเอ็นเอ็น พบว่า คะแนนความนิยมของฮิลลารีนำทรัมป์อยู่ในเลข 2 หลัก โดยอยู่ที่ 54% ต่อ 41% และคลินตันเองก็นำในเกือบทุกประเด็น ทั้งหารต่อต้านก่อการร้าย ผู้อพยพ สาธารณสุข ความเท่าเทียมทางรายได้ นโยบายต่างประเทศ การศึกษา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกเว้นแต่ด้านเศรษฐกิจ

ทั้งทรัมป์และฮิลลารีมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งนั่นคือการเป็นที่รู้จัก สำหรับทรัมป์แล้วจัดรายการโทรทัศน์มายาวนานนับ 10 ปี และเป็นรายการที่ได้รับเรตติ้งดี ในขณะที่ฮิลลารีเคยเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งและภริยาของอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน รวมถึงยังมีบทบาทในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลสมัยแรกของประธานาธิบดี บารัก โอบามา

รูธ เบอร์กอส ผู้สนับสนุนฮิลลารีจากแมนแฮตตัน ซึ่งเป็นอาจารย์เกษียณและสมาชิกสมาคมครูอเมริกัน เปิดเผยว่าเมื่อครั้งเกิดวินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. นักการเมืองทุกคนมุ่งหน้าไปหางบประมาณจากรัฐบาลกลางที่กรุงวอชิงตัน แต่ฮิลลารีกลับไม่ทอดทิ้งประชาชนที่นิวยอร์ก จึงเป็นเหตุผลหลักที่จะลงคะแนนเสียงให้ฮิลลารี

เทรนท์ สปินเนอร์ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ยูเนี่ยนลีดเดอร์ ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ระบุว่า ปัจจัยการเป็นที่รู้จักทำให้ประชาชนไว้ใจทรัมป์และฮิลลารี

อย่างไรก็ตาม สปินเนอร์ กล่าวว่า แม้ในผลสำรวจแวดวงนักข่าวจะพบ 85% ต่างคาดการณ์ฮิลลารีจะได้เป็นประธานาธิบดีแน่นอน หากตัวแทนทางฝ่ายพรรครีพับลิกัน คือ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม สปินเนอร์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถพลิกผันได้ตลอด และไม่สามารถดูถูกความชื่นชอบของประชาชนที่มีต่อทรัมป์ได้ โดยประชาชนเหล่านั้นต่างเชื่อทรัมป์จะช่วยกำจัดระบบที่ประชาชนไม่พอใจ

ชาวมะกันเคืองระบบหันหนุนทรัมป์

เฟรด ดาเลย์ หนึ่งในผู้สนับสนุนทรัมป์ในรัฐนิวแฮมเชียร์ ระบุว่า ระบบราชการในสหรัฐมีขนาดใหญ่มากเกินไป และข้าราชการก็เกษียณเมื่อทำงานไปได้ไม่นานเทียบกับผู้ไม่ได้รับราชการ และได้รับเงินภาษีจากประชาชนจนสิ้นอายุขัย อีกทั้งนโยบายปราบกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ของประธานาธิบดี บารัก โอบามา นั้นอ่อนเกินไป

ความคิดเห็นของดาเลย์แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจในระบบต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐ นอกจากนี้ทรัมป์ยังแสดงท่าทีต่อต้านธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 แม้ทรัมป์จะพึ่งพาธนาคารเหล่านั้นในการสนับสนุนธุรกิจส่วนตัวก็ตาม

จุดยืนของทรัมป์คล้ายคลึงกับจุดยืนของ เบอร์นี แซนเดอร์ส และความไม่พอใจต่อระบบและความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงตัวแทนพรรคเดโมแครตที่เป็นคนนอกพรรคและไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถต่อกรกับคนที่ประชาชนคุ้นเคยอย่างฮิลลารีได้ดี

อย่างไรก็ตาม สก็อต แมคลาร์ตี้ ผู้ประสานงานสื่อจากพรรคกรีน พรรคเล็กในสหรัฐ เปิดเผยว่า แม้พรรคกรีนจะมีจุดยืนร่วมกับแซนเดอร์ส ทั้งการเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลธนาคารขนาดใหญ่และเรื่องของความเท่าเทียม แต่แซนเดอร์สไม่สามารถเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตได้

แมคลาร์ตี้ ให้เหตุผลว่า ระบบของพรรคเดโมแครตเป็นสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อแซนเดอร์ส โดยการคัดเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตจะมีผู้แทนพิเศษ ซึ่งสามารถลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครคนใดก็ได้

ผู้แทนเหล่านั้นส่วนใหญ่ลงคะแนนให้ฮิลลารี เนื่องจากแซนเดอร์สเป็นคนนอกพรรค ยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำความไม่ยุติธรรมของระบบมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ แซนเดอร์สแสดงความไม่พอใจต่อระบบดังกล่าว และผู้สนับสนุนแซนเดอร์สก็ต่างมีจุดยืนร่วมกันในความไม่พอใจต่อระบบการเมือง