posttoday

หุ้น‘มิตซู’ร่วงไม่หยุด รถยนต์ไฟฟ้าอาจเอี่ยว

23 เมษายน 2559

รถยนต์ไฟฟ้า-ปาเจโรอาจเอี่ยวโกงทดสอบประหยัดน้ำมัน หุ้นร่วงต่อเนื่อง 3 วัน สูญมูลค่าแสนล้านบาท

รถยนต์ไฟฟ้า-ปาเจโรอาจเอี่ยวโกงทดสอบประหยัดน้ำมัน หุ้นร่วงต่อเนื่อง 3 วัน สูญมูลค่าแสนล้านบาท

สำนักข่าวเกียวโด รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นกำลังตรวจสอบรถยนต์ทั้งหมด 10 รุ่น ที่อาจไม่ได้มาตรฐานประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันของญี่ปุ่น ซึ่งหมายรวมถึงรุ่นไอ-มีฟ (i-MiEV) รถยนต์ไฟฟ้าของมิตซูบิชิที่มีการขายในต่างประเทศ และรุ่นปาเจโร รวมถึงอาร์วีอาร์และเอาต์แลนเดอร์

ก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิออกมายอมรับว่าโกงการทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมัน โดย เทซึโระ ไอคาวะ ประธาน มิตซูบิชิ เปิดเผยว่า การโกงการทดสอบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับรถยนต์ อีเค วากอน และอีเค สเปซ 1.57 แสนคัน และเดย์ รูซ 4.86 แสนคัน ซึ่งนิสสันผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิต

ขณะเดียวกัน กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยว บุกเข้าตรวจสอบศูนย์เทคโนโลยีของมิตซูบิชิ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. ในขณะที่รัฐบาลสั่งให้มิตซูบิชิรายงานการตรวจสอบรถยนต์ภายในสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นที่ต้องส่งรายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันภายในวันที่ 18 พ.ค.ที่จะถึงนี้

ขณะที่ หุ้นของมิตซูบิชิปรับตัวลดลง 42% นับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นช่วง 3 วันที่หุ้นของมิตซูบิชิร่วงลงมามากที่สุดนับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 1988 และทำให้เสียมูลค่าทางตลาดไปมากถึง 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.12 แสนล้านบาท)

คริสโตเฟอร์ ริชเตอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทโบรกเกอร์ ซีแอลเอสเอ ในกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า เรื่องอื้อฉาวครั้งนี้จะกระทบกับมิตซูบิชิอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามมิตซูบิชิไม่มีแนวโน้มที่ต้องออกจากธุรกิจรถยนต์ไป เนื่องจากมิตซูบิชิไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครือธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายผู้ถือหุ้นมากมายและกว้างขวาง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้มิตซูบิชิต้องขายกิจการให้กับผู้ผลิตรายใหญ่กว่าแทน

ริชเตอร์ ระบุว่า มิตซูบิชิพยายามเรียกคืนความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์เรียกคืนรถจำนวนมากในปี 2001 ซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของมิตซูบิชิร่วงลงอย่างรุนแรง และทำให้ต้องขายรถยนต์ขนาดเล็กให้แก่นิสสัน

ทั้งนี้ มิตซูบิชิเป็นรายล่าสุดที่ประสบกับเรื่องอื้อฉาวในลักษณะดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ โฟล์คสวาเกน ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนี ยอมรับติดตั้งซอฟต์แวร์โกงการทดสอบปล่อยมลพิษในสหรัฐ ซึ่งกระทบกับรถยนต์มากถึง 11 ล้านคันทั่วโลก ขณะที่ฮุนไดและเกีย ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ ตกลงจ่ายค่าปรับ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) เมื่อปี 2014 แก่รัฐบาลสหรัฐหลังปกปิดข้อมูลประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน