posttoday

"ย่างกุ้งเบกเฮาส์" สร้างชีวิตสาวพม่า

09 เมษายน 2559

"ย่างกุ้งเบกเฮาส์" มีจุดมุ่งหมายในก่อตั้งธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสทางหน้าที่การงานให้แก่สตรีชาวเมียนมา และเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแห่งแรกของเมียนมา

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

สาวแคนาดาทั้ง 4 คน เห็นโอกาสจากการเปิดประเทศเมียนมา ดินแดนลึกลับแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมานานหลายศตวรรษ จึงเริ่มก่อตั้ง “ย่างกุ้งเบกเฮาส์”

หากมองเพียงผิวเผิน “ย่างกุ้งเบกเฮาส์” อาจเป็นเพียงธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ ที่มีบริการสำหรับเลี้ยงพนักงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ในกรุงย่างกุ้ง อย่างไรก็ตามธุรกิจดังกล่าวกลับมีจุดมุ่งหมายในก่อตั้งเพื่อสร้างโอกาสทางหน้าที่การงานให้แก่สตรีชาวเมียนมา และเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแห่งแรกของเมียนมา

แคเวลล์ โดฟ ร่วมกับเคลลี่ แมคโดนัลด์ และผู้ก่อตั้งอีก 2 คน ค้นพบว่า ที่เมียนมานั้น สตรีจะขาดโอกาสในการพัฒนาฝีมือ ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมากำลังเติบโตขึ้น และไม่ได้ถูกเข้มงวดกดดันเหมือนสมัยที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร

สำหรับผู้หญิงเหล่านั้น ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้กลับไปยังเศรษฐกิจแบบปกติ หรือไม่เคยมีโอกาสที่จะเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ” แมคโดนัลด์ กล่าว

ฮีทเทอร์ลี บุทเชอร์ หนึ่งในผู้อำนวยการของย่างกุ้งเบกเฮาส์ เปิดเผยว่า การช่วยเหลือสตรีนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ขาดความมั่นใจและความภาคภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง รวมถึงยังไม่เคยวางแผนชีวิตสำหรับวันข้างหน้า แต่สตรีเหล่านี้ได้รับโอกาสจากย่างกุ้งเบกเฮาส์เพื่อเริ่มชีวิตใหม่

นอกจากนี้ ที่เมียนมามีตลาดที่เปิดรับความต้องการอาหารตะวันตกที่มีสุขภาพ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดเป็นผู้บุกเบิกตลาด จึงริเริ่ม “ย่างกุ้งเบกเฮาส์” ขึ้นในปี 2012

"ย่างกุ้งเบกเฮาส์" สร้างชีวิตสาวพม่า

ย่างกุ้งเบกเฮ้าส์จ้างงานและฝึกสอนทักษะในการทำอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร ความสะอาด โภชนาการ การเงิน การรักษาความปลอดภัย พลังงาน อำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี และภาษาอังกฤษให้กับสตรีชาวเมียนมา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเบกเฮาส์ได้ฝึกสอนนักเรียนจนสำเร็จโครงการไปแล้วมากกว่า 70 คน

สำหรับผู้ได้รับทักษะจากโครงการดังกล่าวติดตัวไป พบว่า 90% ของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น และมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 45 เหรียญสหรัฐ/เดือน (ราว 1,588 บาท) โดยแม้จะต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเมียนมาที่ราว 84 เหรียญสหรัฐ/เดือน (ราว 2,965 บาท) แต่สำหรับสตรีชาวเมียนมาที่มีช่องทางโอกาสในการทำมาหากินน้อย เงินจำนวนดังกล่าวสามารถเลี้ยงได้ทั้งครอบครัว

ยกตัวอย่างเช่น เหมียวเหมียวชวี สตรีชาวเมียนมาอีกหนึ่งที่เข้าทำงานในธุรกิจดังกล่าว สำเร็จการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมีลูกชายหนึ่งคนที่ต้องเลี้ยงดู และเคยทำงานได้เดือนละ 6 เหรียญสหรัฐเท่านั้น (ราว 211 บาท)

ในขณะที่ ถิ่นถิ่นเหลียง หนึ่งในสตรีผู้เข้าร่วมโครงการของเบกเฮาส์ ประสบความสำเร็จในการร่ำเรียนจากธุรกิจเพื่อสังคมดังกล่าว และเข้างานที่เบกเฮาส์ แม้แต่เดิมจะเคยทำงานทำความสะอาดขวดเบียร์ที่โรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่ง

“ฉันภูมิใจมาก เพราะฉันประสบความสำเร็จและฉันก็ได้โอกาสที่ฉันไม่เคยฝันถึงเลยสักครั้งในชีวิตของฉัน” ถิ่นถิ่นเหลียง กล่าว

นอกจากจะเข้าทำงานที่ย่างกุ้งเบกเฮาส์แล้ว สตรีชาวเมียนมายังสามารถกลับไปประกอบอาชีพในร้านอาหารต่อเนื่องได้อีกด้วย

"ย่างกุ้งเบกเฮาส์" สร้างชีวิตสาวพม่า

ด้าน เซงจา ผู้จัดการโครงการดังกล่าว คาดหวังว่า โครงการจะเติบโตขึ้นไปอีก และเป็นตัวอย่างให้แก่ธุรกิจอื่นๆ ในเมียนมา

“โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับเมียนมา แต่ฉันคิดว่า โครงการแบบนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มาก ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจโครงการนี้” เซงจา กล่าว

ปัจจุบันบริการของเบกเฮาส์ คือ การรับทำอาหารป้อนสำนักงานของธุรกิจใหญ่ในกรุงย่างกุ้ง และในปี 2015 ที่ผ่านมา เบกเฮาส์ได้ลูกค้ารายใหญ่รายใหม่ นั่นคือ โคคาโคลา น้ำอัดลมชื่อดัง ที่กลับมาสู่เมียนมาหลังจากที่เมียนมาเปิดประเทศ

“เมื่อเราเห็นชีวิตของสตรีเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเห็นผู้หญิงได้รับความมั่นใจใหม่และความภาคภูมิใจในศักยภาพ เมื่อพวกเราเห็นผู้หญิง ซึ่งครั้งหนึ่งไม่เคยคิดถึงวันข้างหน้านอกจากวันนี้ ได้เห็นว่าการใฝ่ฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ พวกเรามีความสุขและตระหนักได้ว่า งานหนักของพวกเรา การลงทุนทางการเงิน และความท้าทายต่างๆ ทางธุรกิจ คุ้มค่าต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้หญิงเหล่านั้น” บุทเชอร์ กล่าว

"ย่างกุ้งเบกเฮาส์" สร้างชีวิตสาวพม่า