posttoday

เผาเงินเล่น

04 เมษายน 2559

ในสมรภูมินี้ต่างฝ่ายต่างก็เจ็บตัวไม่ต่างกัน โดยแต่ละรายเสียค่า “ชดเชย” ที่ว่าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย...จิรเมธ รุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญสาขาจีนศึกษา คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตภูเก็ต

บริการเรียกรถจากแอพพลิเคชั่นในมือถือเป็นที่นิยมมากในเมืองใหญ่ๆ ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศจีนด้วย ก่อนหน้านี้ก็มีหลายแอพพลิเคชั่นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด สุดท้ายตอนนี้ก็เหลือเพียงไม่กี่รายที่เป็นที่นิยม แท็กซี่คันไหนไม่มีแอพดังกล่าว ก็หาผู้โดยสารได้ยาก ผู้โดยสารเองถ้าไม่มีแอพก็เรียกรถได้ยากเช่นกัน โดยเฉพาะในเขตที่ไม่ใช่ถนนสายหลัก และช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

ในปี 2014 Uber ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศจีน แม้จะมีปัญหาการประกอบการในหลายประเทศ แต่ Uber ก็เชื่อว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสให้บริษัทเติบโตขึ้นได้อีก จึงเริ่มเข้าทำตลาดในปักกิ่งเป็นเมืองที่ 100

ประเทศจีนว่ากันว่าเป็นประเทศที่หินมากสำหรับธุรกิจไอที เพราะบริษัทไอทีส่วนใหญ่ที่มาเปิดสำนักงานในจีน ต่างก็ต้องพ่ายแพ้บริษัทเจ้าถิ่นไปแทบทุกรายไป ไม่ว่าน่าจะเป็น MSN ที่พ่ายให้กับ QQ, Google ที่ต้องถอยทัพกลับ และปล่อยให้ Baidu ครองตลาดในจีนอยู่เจ้าเดียว, Amazon ที่ทำยังไงก็ขายได้ไม่มากเท่า Taobao

แอพพลิเคชั่นเจ้าถิ่นที่เป็นคู่แข่งของ Uber ก็คือ DiDi เมื่อ Uber เปิดบริการ “ทางเดียวกันไปด้วยกัน” DiDi ก็ออกบริการที่เหมือนกันมาแข่ง ทั้งคู่ต่างก็ใช้กลยุทธ์เพื่อที่จะแย่งคนขับและผู้โดยสารจากอีกฝั่งมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์หลักก็คือ จ่ายเงิน “ชดเชย” ให้ทั้งกับผู้โดยสารและคนขับ

ในบางเส้นทาง บางวัน ผู้โดยสารจะจ่ายเงินเพียงส่วนหนึ่งของราคาเต็ม (หรือแม้แต่ฟรี) ในขณะที่คนขับก็จะได้รับส่วนต่างที่บริษัทสมทบให้อีก

“บริการทางเดียวกันไปด้วยกัน” ที่ว่าก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในระดับประเทศว่าสรุปแล้ว ผิดกฎหมายหรือไม่ ในมุมมองของนักกฎหมาย เขาก็บอกว่าผิด เพราะว่าเป็นการนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการสาธารณะ ในมุมมองของผู้ให้บริการก็บอกว่า นี่เป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือกันและกัน เพราะคนขับจะเสิร์ชเจอและรับเฉพาะคนที่จะเดินทางไปยังเส้นทางเดียวกันเท่านั้น โดยที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกัน “แชร์” ค่าใช้จ่ายบางส่วน

และแม้ว่าบริการที่ว่าจะผิดกฎหมาย หากถูกจับ คนขับจะต้องเสียค่าปรับถึง 9,000 หยวน (และในบางกรณี บริษัทก็ยินดีจ่ายค่าปรับให้แทนคนขับ) แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เข้มงวด เพราะยังไม่มีกฎหมายที่ทันสมัยเพียงพอมารองรับ การแข่งขันจึงยังคงดำเนินต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เมื่อยังไม่มีการออกประกาศอย่างชัดเจน การแข่งขันกัน “เผาเงินเล่น” ของ Uber และ DiDi ก็ยังดำเนินต่อไป

ว่ากันว่าในสมรภูมินี้ต่างฝ่ายต่างก็เจ็บตัวไม่ต่างกัน โดยแต่ละรายเสียค่า “ชดเชย” ที่ว่าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา

ภาพ...เอเอฟพี