posttoday

ญี่ปุ่นไฟเขียวงบ30ล้านล้าน เน้นสวัสดิการรับมือสังคมผู้สูงอายุ

30 มีนาคม 2559

รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านงบประมาณปี 2016 กว่า 30 ล้านล้าน เล็งกระตุ้นคลังเพิ่ม 3 ล้านล้าน

รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านงบประมาณปี 2016 กว่า 30 ล้านล้าน เล็งกระตุ้นคลังเพิ่ม 3 ล้านล้าน

รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณประจำปี 2016 มูลค่า 96.72 ล้านล้านเยน (ราว 30.17 ล้านล้านบาท) เน้นสวัสดิการทางสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังอีก 10 ล้านล้านเยน (ราว 3.12 ล้านล้านบาท) โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ งบประมาณมูลค่า 73.11 ล้านล้านเยน (ราว 22.81 ล้านล้านบาท) ไม่รวมการชำระหนี้ จะนำไปใช้ทุนสำหรับโครงการและปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการทางสังคมราว 31.97 ล้านล้านเยน (ราว 9.97 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าวยังรวมค่าใช้จ่ายทางการทหารที่เพิ่มขึ้นราว 1.5% ที่ 5.05 ล้านล้านเยน (ราว 1.58 ล้านล้านบาท) และเพิ่มความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (โอดีเอ) 1.8% ที่ 5.51 แสนล้านเยน (ราว 1.71 แสนล้านบาท) สะท้อนถึงความพยายามของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ในการขยายความมั่นคงและการทูตของญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีความพยายามในการเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี ผ่านการขึ้นภาษีบริโภคโดยเฉพาะอาหาร เริ่มต้นเดือน เม.ย. 2017 และปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคาดว่ารายได้จากการเก็บภาษีอาจเพิ่มขึ้นแตะ 57.60 ล้านล้านเยน (ราว 17.97 ล้านล้านบาท) สูงที่สุดในรอบ 25 ปี

ด้าน ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ยืนยันว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่ามีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากผลกำไรภาคเอกชนและอัตราการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่การปรับขึ้นภาษีบริโภค 10% ในปี 2017 นั้น นายกรัฐมนตรีอาเบะจะตัดสินใจอีกครั้งในการประชุมประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 (จี7) ในเดือน พ.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ.ปรับตัวขึ้น 0.5% เทียบกับปีก่อนหน้า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.1% จาก 3.2% ในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 3.3%

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณด้านบวกต่อสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แม้ภาคการบริโภคจะยังคงอ่อนแอก็ตาม ในขณะที่อัตราการว่างงานที่ปรับขึ้นเล็กน้อยส่งสัญญาณดีต่อตลาดแรงงานในญี่ปุ่น

ยูอิจิ โคดามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ เมจิ ยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ ระบุว่า ภาคการบริโภคในประเทศยังคงซบเซา สวนทางกับแรงซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยูอิลโฮ รัฐมนตรีคลังของเกาหลีใต้ ระบุว่า การส่งออกในเดือน มี.ค.มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังปรับตัวลงในเดือน ม.ค.และ ก.พ. รวมกัน 15.7% เทียบกับปีก่อนหน้า พร้อมระบุว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นด้วย ทั้งนี้ยูอิลโฮไม่ได้ระบุรายละเอียดถึงสาเหตุของการปรับตัวขึ้น

ด้าน ปาร์กชงฮุน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.5% ก็ตาม

“เราคาดว่าบีโอเคจะออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่การประสานนโยบายทางการเงินด้วย” ปาร์กชงฮุน ระบุ

ขณะที่ โชดงชุล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันพัฒนาของเกาหลีใต้ (เคดีไอ)แสดงความกังวลว่าเกาหลีใต้อาจเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด