posttoday

ศึก "ซูเปอร์ทิวส์เดย์" เดือด โดนัลด์ ทรัมป์เตรียมคว้าชัยต่อเนื่อง

02 มีนาคม 2559

ศึกหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งใหญ่ของพรรครีพับลิกันในทั้งหมด 14 รัฐ หรือซูเปอร์ทิวส์เดย์ เปิดฉากขึ้นแล้ว

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ศึกหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งใหญ่ของพรรครีพับลิกันในทั้งหมด 14 รัฐ หรือซูเปอร์ทิวส์เดย์ เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยประเดิมที่รัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งเปิดให้ลงคะแนนเสียงตั้งแต่เวลา 05.00 น. หรือ 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ตามด้วยรัฐเวอร์จิเนีย จอร์เจีย แมสซาชูเซตส์ โอคลาโฮมา เทนเนสซี เทกซัส ไวโอมิง แอละแบมา อาร์คันซอส์ โคโลราโด อาลาสกา อเมริกันซามัว และมินเนโซตา

สำหรับพรรครีพับลิกัน คาดการณ์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันจะเป็นผู้คว้าชัยชนะส่วนใหญ่ในศึกครั้งนี้ โดยในรัฐที่มีการเปิดเผยผลโพลออกมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ รัฐแอละแบมา จอร์เจีย แมสซาชูเซตส์ และโอคลาโฮมา ทรัมป์มีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่น เช่น เท็ด ครูซ และ มาร์โค รูบิโอ ทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง รัฐแอละแบมาค่าเฉลี่ยผลโพลทรัมป์มีคะแนนนำที่ 39.4% เมื่อเทียบกับมาร์โค รูบิโอ และเท็ด ครูซ คู่แข่งที่ 19.6% และ 15.1% ตามลำดับ หรือในรัฐจอร์เจีย ทรัมป์มีคะแนนนำที่ 36.8% ตามมาด้วยรูบิโอที่ 20.6% และครูซที่ 20.4%

อย่างไรก็ตาม ด้านการบริจาคเงินพบว่าทรัมป์ได้รับเงินบริจาคเพียง 2.64 หมื่นเหรีญสหรัฐ (ราว 9.39 แสนบาท) ในรัฐแอละแบมา เมื่อเทียบกับรูบิโอที่ 3 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 10 ล้านบาท) และครูซที่ 3.7 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 13 ล้านบาท) ในขณะที่ในรัฐจอร์เจีย ทรัมป์เรียกเงินบริจาคได้ 5.55 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 1.9 ล้านบาท) เทียบกับรูบิโอที่ 5.56 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 19 ล้านบาท) และครูซที่ 6.16 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 21 ล้าน)

นอกจากนี้ ผลโพลของซีเอ็นเอ็นที่สำรวจเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา บนสมมติฐานหากทรัมป์เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันและ ฮิลลารี คลินตัน เป็นตัวแทนจากเดโมแครต พบว่า คลินตันมีคะแนนนำที่ 52% ในขณะที่ทรัมป์ได้ไป 44% แต่หากเป็นคู่ของ เบอร์นี แซนเดอร์ส และทรัมป์ แซนเดอร์ส จะยังคงชนะที่ 55% ต่อ 43%

ก่อนหน้าที่ศึกหยั่งเสียงเลือกตั้งซูเปอร์ทิวส์เดย์จะเปิดฉากขึ้น บรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันต่างมีความเห็นที่ขัดแย้งต่อจุดยืนทรัมป์ โดยก่อนหน้านี้ผู้ว่ารัฐนิวเจอร์ซีย์ คริส คริสตี อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ ประกาศจะสนับสนุนทรัมป์ให้เป็นตัวแทนพรรค เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกรัฐแอละแบมา เจฟฟ์ เซสชันส์ เนื่องจากทรัมป์มีความสามารถมากพอที่จะชนะฮิลลารีจากเดโมแครตได้

อย่างไรก็ตาม มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2012 แสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายของทรัมป์ และกล่าวหาว่าทรัมป์เอาแต่ใจและเป็นผู้คลั่งศาสนาที่น่ารังเกียจ รวมถึงทรัมป์ยังไม่ประณาม เดวิด ดูค ผู้นำคู คลักซ์ แคลน (เคเคเค) กลุ่มคนต่อต้านสีผิว ซึ่งเป็นเรื่องน่ารังเกียจและน่าขยะแขยง

เช่นเดียวกับ เบน ซาสซ์ วุฒิสมาชิกของรัฐเนบราสกา ประกาศจะไม่มีวันสนับสนุนทรัมป์ เนื่องจากทรัมป์มีแนวคิดที่สร้างความแตกแยกในสหรัฐ ในขณะที่ จอห์น คอร์นิน วุฒิสมาชิกรัฐเทกซัสและวุฒิสมาชิกหมายเลข 2 ของพรรครีพับลิกัน แสดงความกังวลว่าทรัมป์จะเป็นผู้นำโชคร้ายมาให้ตลอดศึกการเลือกตั้งเบื้องต้น

ชี้ชะตาแซนเดอร์สอยู่หรือไป

สำหรับการหยั่งเสียงซูเปอร์ทิวส์เดย์ของฝั่งพรรคเดโมแครต มีกำหนดเลือกตั้งหยั่งเสียงทั้งหมด 11 รัฐ ได้แก่ แอละแบมา อเมริกันซามัว อาร์คันซอส์ โคโลราโด จอร์เจีย แมสซาชูเซตส์ มินเนโซตาโอคลาโฮมา เทนเนสซี เทกซัส เวอร์มอนต์ และเวอร์จิเนีย เท่ากับจำนวนผู้แทนที่จะเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต 865 คน จากทั้งหมด 11 รัฐดังกล่าว เมื่อเทียบกับจำนวนผู้แทน 4,763 คน ที่จะเข้าประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้

เว็บไซต์ข่าวว็อกซ์ เปิดเผยว่า หาก แซนเดอร์สผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตพ่ายแพ้การหยั่งเสียงในรัฐเวอร์มอนต์ มินเนโซตา โคโลราโด และแมสซาชูเซตส์ จะประสบกับปัญหาหนักและลดโอกาสที่แซนเดอร์สจะได้เป็นตัวแทนพรรค เนื่องจากเป็นรัฐที่มีสัดส่วนชาวอเมริกันผิวขาว ซึ่งเป็นฐานเสียงของแซนเดอร์สมากกว่า 80%

สำหรับ ฮิลลารี ว็อกซ์ ระบุว่า คาดการณ์ว่าจะคว้าชัยในรัฐแอละแบมา จอร์เจีย เทกซัส อาร์คันซอส์ และเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นฐานเสียงของคลินตัน และมีสัดส่วนชาวผิวขาวต่อชาวผิวดำ ละตินอเมริกัน รวมถึงเอเชียใกล้เคียงกัน หรือมีชาวอเมริกันผิวขาวน้อยกว่า ยกเว้นอาร์คันซอส์ ซึ่งมีสัดส่วนชาวผิวขาวมากกว่า 80% อย่างไรก็ตามอาร์คันซอส์เป็นบ้านเกิดของ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐและผู้ว่ารัฐอาร์คันซอส์

หยั่งเสียงสำคัญอย่างไร

เป็นนการคัดเลือกผู้แทนที่ให้คำมั่นจะลงคะแนนเสียงแก่ผู้สมัครคนใด โดยสำ หรับเดโมแครตผู้สมัครจะได้เสียงจากผู้แทนจากสัดส่วนคะแนนในการหยั่งเสียงทั้งแบบไพรมารีและคอคัส ในขณะที่รีพับลิกันใช้กฎให้คณะกรรมการพรรคตัดสินใจหรือวิธีอื่นๆ ทั้งแบ่งแบบสัดส่วน หรือใช้กฎผู้ชนะได้ทั้งหมดรวมถึงแบบผสมผสาน

ผู้แทนมีทั้งหมดกี่คน?

ผู้แทนที่จะเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตมีทั้งหมด4,763 คน ซึ่งผู้ชนะเป็นตัวแทนพรรคต้องการคะแนนเสียงอย่างน้อย2,382 เสียง ขณะที่รีพับลิกันมีผู้แทนเข้าร่วมประชุมพรรค2,472 คนโดยผู้สมัครต้องได้คะแนนเสียง1,237 คน จึงได้เป็นตัวแทนพรรคไปสู้ศึกประธานาธิบดี เดโมแครตยังมี “ผู้แทนพิเศษ” ที่ไม่จำ เป็นต้องให้คำมั่นจะลงคะแนนให้กับใครในการประชุมใหญ่พรรค โดยเว็บไซต์ข่าวว็อกซ์ ระบุว่า มีจำนวน 712 คน จาก4,763 คน