posttoday

จีนจะเป็นภัยหรือไม่?

29 กุมภาพันธ์ 2559

โดย...จิรเมธ รุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญสาขาจีนศึกษา คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

โดย...จิรเมธ รุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญสาขาจีนศึกษา คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต [email protected]

เป็นคำถามยอดนิยมมานานเมื่อกล่าวถึงอิทธิพลของจีนในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในบริบทที่จีนมีบทบาทระดับโลกเพิ่มขึ้น ความเกรงกลัวอิทธิพลของจีนเกิดจากเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะด้วยความที่เป็นมหาอำนาจที่มีทั้งขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และขนาดเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก

หากย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเอเชีย จะพบว่าจีนสร้างระบอบความสัมพันธที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง และมีประเทศที่มีอารยธรรมด้อยกว่ารายรอบ ซึ่งประเทศเหล่านี้ต้องส่งบรรณาการมาให้จีนตามกำหนด หรือแม้แต่ในช่วงสร้างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนก็ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสนับสนุนแนวคิดและการเงินในการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ

เหตุผลเหล่านี้ทำให้หลายประเทศในเอเชียยังคลางแคลงใจต่อการเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารจีน ยิ่งเมื่อบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน มีปัญหาขัดแย้งกับจีนเรื่องสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ จึงทำให้ประเทศเหล่านี้หวาดกลัวจีนมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ปัญหาทะเลจีนใต้มิใช่เพิ่งปะทุขึ้น หากแต่มีการตอบโต้กันมาหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่ทุกประเทศต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเลือกที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันถือเป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้ และเห็นผลรวดเร็วก่อน ปัญหานี้จึงคาราคาซังมานาน และเมื่อแต่ละประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีงบประมาณทางการทหารมากขึ้น ความขัดแย้งในหมู่เกาะดังกล่าวจึงมีให้เห็นบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นภูมิภาคที่มีการแข่งขันแสดงอานุภาพทางการทหารบ่อยครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แต่หากมองจากมุมของจีนแล้ว การเรียกร้องเพื่อให้ได้กลับมาซึ่งอาณาเขตซึ่งเชื่อมาเสมอว่าเป็นของตนเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐบาลพึงจะกระทำอยู่แล้ว แม้ว่าอาณาเขตบนแผ่นดินของจีนจะห่างไกลจากพื้นที่ในทะเลที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของ แต่จีนก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอจะยืนยันได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ประเทศคู่ขัดแย้งกลับไม่มีหลักฐานที่สมบูรณ์กว่า ถึงกระนั้นจีนก็พร้อมที่จะเจรจากับประเทศคู่ขัดแย้งเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ หากแต่ไม่ยินยอมจะเจรจาในกรอบพหุภาคีเนื่องจากจีนเห็นว่าประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับปัญหาในทะเลจีนใต้ไม่ควรจะมาร่วมตัดสินใจด้วย เพราะอาจจะมาร่วมกันกดดันจีนเพียงฝ่ายเดียว

แท้จริงแล้วจีนจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของเอเชียจริงๆ หรือไม่ อาจต้องมองจากหลายมุม เพราะทุกประเทศต่างถือประโยชน์สูงสุดของตนเป็นที่ตั้ง และไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร จีนก็หลีกเลี่ยงที่จะถูกมองเป็นพี่ใหญ่ที่รังแกน้องๆ ไม่ได้เสียร่ำไป ซึ่งก็อาจจะเข้าทางเกมการเมืองระหว่างประเทศของบางประเทศเข้าพอดี

ภาพ...เอเอฟพี