posttoday

เอสแอนด์พีหั่นเครดิตพลังงานตะวันออกกลางเร่งปรับตัว

27 มกราคม 2559

เอสแอนด์พี ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือบริษัทพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หมายรวมถึงจีนและออสเตรเลีย

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดัง ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือบริษัทพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหมายรวมถึงจีนและออสเตรเลีย เนื่องจากเอสแอนด์พีคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องจะกระทบต่อรายได้และความน่าเชื่อถือภาพรวมของบริษัท
 
บริษัทพลังงานที่เอสแอนด์พีปรับลดความน่าเชื่อถือ รวมถึง ไชน่า ปิโตรเลียม แอนด์ เคมิคอล คอร์ป, ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น (ซีเอ็นโอโอซี) บริษัทพลังงานของจีน, วู้ดไซด์ ปิโตรเลียม และซานโตส บริษัทพลังงานในออสเตรเลีย

เอสแอนด์พี ระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำการลดความน่าเชื่อถือของซีเอ็นโอโอซี เนื่องจากบริษัทขาดการจัดการกระแสเงินสดอย่างเหมาะสมและมีเสถียรภาพ แม้จะมีการปรับลดรายจ่ายและต้นทุนการผลิตน้ำมันก็ตาม

อย่างไรก็ดี เอสแอนด์พี ชี้ว่า ภาพรวมราคาน้ำมันไม่มีผลกระทบต่อเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย พีที เปอร์ตามินา, มาเลเซีย ปิโตรเลียม เนชั่นแนล (ปิโตรนาส), บริษัท ปตท. และอินเดีย ออยล์ แอนด์ เนเจอรัล แก๊ส คอร์ป (โอเอ็นจีซี)

"บริษัทพลังงานทุกบริษัทมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ในแต่ละประเทศ ดังนั้นบริษัทพลังงาน 4 บริษัทที่ เอสแอนด์พีปรับลดความน่าเชื่อถือ ยังมีความสำคัญต่อแต่ละประเทศเหมือนเช่นเคย" เอสแอนด์พี ระบุ

ชาติอาหรับหันหนีน้ำมัน

คาลิด อัลฟาลิห์ ประธาน ของซาอุดิอรามโก รัฐวิสหกิจน้ำมัน ของซาอุดิอาระเบีย เปิดเผยว่า ซาอุดิอาระเบียกำลังวางแผนเพื่อหันไปพึ่งอุตสาหกรรมตั้งแต่เทคโนโลยีสารสนเทศ สาธารณสุข และการท่องเที่ยว เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในการจัดการท่ามกลางราคาน้ำมันถูก

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาระเบีย ระบุว่า ซาอุดิอาระเบียจะลดการพึ่งพิงน้ำมันและราชการ โดยหันไปพึ่งการสร้างงานในภาคเอกชนแทน

ก่อนหน้านี้ ซูฮาอิล บิน โมฮัมเหม็ด อัล-มัซรูอี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ระบุว่า ยูเออีกำลังหันไปพึ่งพาเศรษฐกิจนอกภาคน้ำมัน แทนการพึ่งรายได้จากการส่งออกพลังงาน หลังราคาน้ำมันปรับตัวลงต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

ด้าน อับดุลเลาะห์ อัล-บาดรี เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) เรียกร้องให้ผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกโอเปกร่วมมือกันเพื่อยุติภาวะน้ำมันล้นตลาด

ขณะเดียวกัน เลโอนิด เฟอดุน รองประธาน ลุคออยล์ บริษัทน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของรัสเซีย กล่าวว่า ผู้ผลิตในรัสเซียพร้อมที่จะพูดคุยกับโอเปกในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต ถ้าหากรัฐบาลรัสเซียสนับสนุน โดยรัสเซียควรที่จะร่วมมือลดภาวะน้ำมันล้นตลาดและการขายน้ำมันในราคาแพงย่อมดีกับผู้ผลิตมากกว่า

บริษัทน้ำมันเล็งลดคนต่อ

ผลสำรวจของเดทนอร์สกี เวริทัส เกอร์มานิชเชอร์ลอย (ดีเอ็นวี จีแอล) บริษัทให้คำปรึกษาด้านน้ำมันและก๊าซ พบว่า 3 ใน 4 ของบริษัทพลังงานทั่วโลกเตรียมปรับลดพนักงานลง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการควบคุมต้นทุนการผลิต

ก่อนหน้านี้ บีพี บริษัทน้ำมันจากอังกฤษ ประกาศปรับลดพนักงานลง 4,000 คน ภายในสิ้นปี 2017 หลังราคาน้ำมันตกต่ำ ขณะที่บริษัทน้ำมันในจีนราว 25% กังวลสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ โดยระบุว่าราคาน้ำมันเป็นอุปสรรคหลักในการขยายตัวทางธุรกิจ

"แม้ราคาน้ำมันทั่วโลกจะปรับตัวลง แต่บริษัทพลังงานในจีนกลับสวนทางโลก โดยอ้างถึงแรงซื้อพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการออกโครงการด้านพลังงานใหม่ๆ" อี้ วูลฟ์กัง หวู่ ผู้จัดการทั่วไปของดีเอ็นวี แอล ในจีน กล่าว

อิหร่านเชื่อมสัมพันธ์ยุโรป

รอยเตอร์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวรัฐบาลอิตาลี เปิดเผยว่า ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่านและรัฐบาลอิหร่าน บรรลุข้อตกลงในภาคพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.65 แสนล้านบาท)

ขณะนี้ผู้นำของอิหร่านอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนยุโรป โดยเริ่มจากประเทศอิตาลีเป็นประเทศแรก จากนั้นจึงจะเดินทางไปยังฝรั่งเศสและโปแลนด์ ตามลำดับ

นายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี ของอิตาลี ระบุว่า การเดินทางเยือนอิตาลีของรูฮานีในครั้งนี้ สะท้อนถึงความพยายามร่วมกันในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่ม ติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) และความรุนแรงที่ทั้งสองประเทศต้องเผชิญ

"อิหร่านมักจะอยู่แถวหน้าๆ ในการต่อต้านการก่อการร้าย และอิหร่านจะเดินหน้าร่วมมือกับอิตาลีต่อไป เพื่อรักษาสันติภาพในอัฟกานิสถาน ซีเรีย เลบานอน และลิเบียต่อไป" ผู้นำอิหร่าน ระบุ