posttoday

อัพราคายาโอเวอร์ ปัญหาเรื้อรังสหรัฐ

20 ธันวาคม 2558

สหรัฐเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีการควบคุมราคายา และยังเป็นประเทศที่ยารักษาโรคมีราคาแพงมากที่สุดในโลก

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

ข่าวครึกโครมในวงการอุตสาหกรรมยาสหรัฐ ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดุเดือดในโซเชียลมีเดีย คงหนีไม่พ้นการขึ้นค่ายา “ดาราพริม” ยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากภูมิคุ้มกันอ่อนแอทั้งเอชไอวีและมะเร็ง จาก 13.50 เหรียญสหรัฐ (ราว 490 บาท) เป็น 750 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.7 หมื่นบาท) หรือราว 5,500% โดย บริษัท ทูริง ฟามาซูติคัลส์ ซึ่งมี มาร์ติน ชเครลี ชายหนุ่มวัย 32 ปี นั่งแท่นเป็นซีอีโอ

บรรดานักการเมืองก็เข้ามาร่วมวิพากษ์วิจารณ์ด้วย โดยเฉพาะ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีมาอย่างยาวนานในอุตสาหกรรมยาให้ได้ ส่งผลให้ดัชนีแนสแด็กไบโอเทคโนโลยีปรับตัวลงมากถึง 13% เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์เดลีบีสต์ของสหรัฐถึงขั้นขนานนามชเครลีเป็น “ชายที่โดนเกลียดมากที่สุดในสหรัฐ” อย่างไรก็ตาม ชเครลียังคงปกป้องการขึ้นราคายาดังกล่าวว่า ทูริงจำเป็นต้องใช้รายได้ที่ได้จากยาดังกล่าวเพื่อนำมาลงทุนค้นหาวิธีการรักษาใหม่ๆ โดยยาดังกล่าวนับว่ายังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับยาชนิดเดียวกันอื่นๆ ในตลาด

ทูริงลดค่ายาดาราพริมลงครึ่งหนึ่งสำหรับโรงพยาบาลในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้ดาราพริมคิดเป็นสัดส่วน 80% โดยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ พบว่า มากกว่า 25% ของชาวสหรัฐวัยผู้ใหญ่ประสบกับการติดเชื้อปรสิต ซึ่งต้องใช้ยาอย่างดาราพริมในการรักษา

ชเครลีถูกตำรวจจับกุมในวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยข้อหายักยอกเงินจากบริษัท เรโทรพิน ที่เคยเป็นซีอีโออยู่ไปชำระหนี้อย่างผิดกฎหมายในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ชเครลีบริหารอยู่ โดยแม้ข้อหาดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่ายา แต่โลกโซเชียลมีเดียลก็สาดเสียเทเสียอย่างเผ็ดมัน เช่น ทวิตเตอร์ที่ใช้แฮชแท็ก #karma หรือ “กรรมตามทัน”

ในเวลาต่อมา ชเครลีก็ลาออกจากการเป็นซีอีโอของทูริง ฟามาซูติคัลส์ ในวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา

อัพราคายาโอเวอร์ ปัญหาเรื้อรังสหรัฐ

ปัญหาเรื้อรัง

ชเครลีไม่ใช่คนแรกที่ใช้รูปแบบการซื้อสิทธิบัตรยามาขึ้นราคาแต่รูปแบบดังกล่าวยังเกิดขึ้นทั่วอุตสาหกรรมยาสหรัฐ บริษัทยาอื่นๆ เช่น วาเลียนท์ ฟามาซูติคัลส์ หรือ โรเดอลิส เธอราฟูติกส์ และอื่นๆ ต่างก็ใช้ช่องโหว่จากระบบรักษาพยาบาลของสหรัฐในลักษณะเดียวกับทูริงทั้งนั้น

ก่อนหน้านี้ คิตรอนรีเสิร์ช สถาบันวิจัยในสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีการควบคุมราคายา และยังเป็นประเทศที่ยารักษาโรคมีราคาแพงมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยจากข้อมูลในปี 2014 ของเอ็กซ์เพรส สคริปต์ส โฮลดิ้ง บริษัทจัดการราคายาในสหรัฐนับแต่ปี 2008 ขึ้นมากถึง 127% เมื่อเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภคที่ขึ้นเพียง 11%

ยกตัวอย่าง วาเลียนท์ ฟามาซูติคัลส์ ขึ้นราคายาเกือบ 30 ชนิด ราว 90-786% ในขณะที่ยาหยอดหูเพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างออฟลอซาซิน วาเลียนท์ก็ขึ้นราคามากถึง 2,288% หรือ มาลินซ์โครดท์ ที่ขึ้นค่ายารักษาโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไตจาก 1,235 เหรียญสหรัฐ (ราว 4.4 หมื่นบาท) เป็น 2.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 1 ล้านบาท)

อาร์ท แคแพลน นักจริยธรรมแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เปิดเผยว่า รูปแบบการทำธุรกิจแบบชเครลีไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และบริษัทอื่นก็มีการกระทำเช่นนั้น โดยกรณีของชเครลีกลายเป็นการสะท้อนปัญหาและความไม่ถูกต้อง ที่เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมยา

รูปแบบดังกล่าวคือการซื้อสิทธิบัตรยาของคู่แข่งที่เห็นว่าราคาต่ำเกินไปเข้ามา ขึ้นราคา และขาย เช่นเดียวกับรูปแบบการลงทุนเฮดจ์ฟันด์ แต่การลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นกับยาที่ใช้รักษาชีวิตของผู้ป่วย โดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ และกลายเป็นรูปแบบการทำธุรกิจในสหรัฐไปในที่สุด

แม้ราคาที่เพิ่มขึ้นมากจะช่วยให้บริษัทยามีรายได้เพื่อนำไปต่อยอดคิดค้นวิธีรักษาใหม่ได้มากขึ้น รวมถึงยาในสหรัฐเมื่อหมดสิทธิบัตรคุ้มครอง ค่ายาจะปรับลงทันที แต่ความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวเริ่มเพิ่มมากขึ้นจากกรณีด้านบน และยาใช่จะหมดสิทธิบัตรหลายชนิดในคราวเดียวในทุกปี

ภาพ...เอเอฟพี