posttoday

ตีแผ่ที่มาชาไข่มุกจีนของเก๊ ทำจากยางรถ-หนังรองเท้า!?

30 ตุลาคม 2558

ตีแผ่ที่มาชาไข่มุกจีนของเก๊ แท้จริงทำจากยางรถยนต์-หนังรองเท้า!?

ตีแผ่ที่มาชาไข่มุกจีนของเก๊ แท้จริงทำจากยางรถยนต์-หนังรองเท้า!?

ชานมไข่มุก หรือเครื่องดื่มรสชาติต่างๆ ใส่ไข่มุกที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง มีต้นกำเนิดจากไต้หวันช่วงราวยุคปี 80 ซึ่งรสชาติและรสสัมผัสพิเศษที่เกิดจากการจับคู่กันระหว่างชาใส่นมและเม็ดไข่มุกนี้ ส่งผลให้เครื่องดื่มดังกล่าวกลายเป็นของกินเล่นยอดนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

หลายคนยังเชื่อว่า แท้จริงแล้วเคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่เม็ดไข่มุก ซึ่งเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าร้านชาประเภทนี้จะขายดีมีกำไรหรือลูกค้าไม่สนจนขาดทุน แต่ล่าสุดสำนักข่าวท้องถิ่นในมณฑลซานตงของจีน พบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไขมุกเหล่านี้ที่น่าตกใจว่า ขณะที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของรสชาติ อาจลืมระวังถึงส่วนผสมของไข่มุกที่ไม่เหมาะสมกับการรับประทาน อย่างยางล้อรถ หรือหนังรองเท้า!

นักข่าวหญิงของสถานีข่าวแห่งนี้ เริ่มทำรายงานเรื่องของที่มาแสนสยองของเม็ดไข่มุก หลังผู้ดื่มเครื่องดื่มชาไข่มุกรายหนึ่งเข้ารับการซีทีสแกนช่องท้องของตัวเอง แล้วพบวัตถุปริศนาในฟิล์มแสดงภาพสแกน เป็นเม็ดสีขาวๆ ลักษณะคล้ายไข่มุกตกค้างอยู่ในช่องท้องจำนวนหนึ่ง เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ซึ่งเครื่องดื่มโปรดของผู้บริโภครายนี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่มีความเป็นไปได้สูงทันที

จากการสอบถามหัวหน้าทีมแพทย์ของคลินิกระบบทางเดินอาหารในเมืองชิงเต่า ทำให้ทราบว่า เม็ดไข่มุกคืออาหารประเภทแป้ง ซึ่งเหมือนกับอาหารทั่วไป ที่เมื่อบริโภคเข้าไปร่างกายจะทำการย่อยและขับถ่ายออกมาได้ในเวลาต่อมา จะไม่ตกค้างอยู่ในร่างกายดังเช่นที่ภาพสแกนฟ้อง

ยกเว้นแต่เพียงเม็ดไข่มุกที่ไม่ได้ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง หรือวัตถุประกอบอาหารที่มนุษย์สามารถย่อยได้เท่านั้น ที่จะตกค้างในร่างกายอย่างแน่นอน

เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน สื่อรายนี้จึงอาสาทดลองดื่มชาไข่มุกด้วยตัวเอง โดยซื้อเครื่องดื่มนี้ในร้านเดียวกับคนไข้ข้างต้น และหลังจากนั้นเธอก็เข้ารับการซีทีสแกน ซึ่งปรากฏผลเช่นเดียวกับผู้บริโภคต้นเรื่อง

นักข่าวรายนี้จึงออกไปสอบถามถึงข้อมูลของไข่มุกเหล่านี้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากพนักงานในร้านชาต่างๆ ทั่วเมือง ซึ่งให้คำตอบที่หลากหลายกันว่าไข่มุกอาจทำจากแป้งไปจนถึงมันฝรั่ง หรือบางรายก็ยอมรับว่า ไม่รู้ ก็มี

เมื่อสอบถามลึกไปถึงผู้ผลิตเม็ดไข่มุกส่งร้านชา จำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถาม รายหนึ่งปฏิเสธว่าทำจากอะไรก็ได้ที่รับประทานแล้วไม่ป่วยหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

โรงงานผลิตอีกแห่งหนึ่งยังให้คำตอบที่ชวนอึ้งกับสื่อมวลชน คือไข่มุกทื่รับประทานกันทำจากวัตถุเคมีในโรงงาน โดยอาจทำจากหนังด้านนอกของรองเท้าหนังหรือยางล้อรถเก่าก็เป็นได้ ซึ่งตั้งแต่ขึ้นชื่อว่าเกี่ยวกับสารเคมีก็ไม่สมควรนำมาบริโภคแล้ว วัตถุดังกล่าวที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างยังไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่สมควรหรือชวนรับประทานอย่างยิ่ง เวลานี้รายงานชิ้นนี้จึงกลายเป็นกรณีที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตของจีนและญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับอาหารหรือคุ้มครองผู้บริโภคลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตที่ถูกกล่าวอ้างทั้งหมด

ที่มา M2F
ภาพ healthline