posttoday

"สมาร์ทโฟน" บนทางขัดแย้ง ซ้ำปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์

18 ตุลาคม 2558

สมาร์ทโฟนอาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของปาเลสไตน์ในการก่อความรุนแรงและนำไปสู่การปฏิวัติครั้งที่ 3

โดย...กัมปนาท คล้ายสุบรรณ

พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพเหตุการณ์ต่างๆ กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ และได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยในบางครั้งภาพหรือวิดีโอที่บันทึกได้บนสมาร์ทโฟนกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ทั้งใหญ่บ้างและเล็กบ้าง แต่บางครั้งก็กลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติเลยทีเดียว

เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นในเมืองเยรูซาเลม ของอิสราเอล เมื่อผู้คนที่เดินไปมาบนท้องถนนได้บันทึกภาพตำรวจอิสราเอลใช้ปืนยิง อิสรา อาเบ็ด หญิงสาวชาวปาเลสไตน์ วัย 30 ปี บาดเจ็บ โดยตำรวจอิสราเอลกล่าวว่า อาเบ็ดพยายามใช้มีดแทงตำรวจ อย่างไรก็ดีขณะนี้อาเบ็ดได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว

หลังจากนั้นไม่นาน วิดีโอดังกล่าวถูกโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียและมีผู้เข้าชมกว่าพันครั้ง และเรียกโทสะจากบรรดาผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก

กลุ่มสังคมออนไลน์ชาวปาเลสไตน์บางส่วนได้ใช้สื่อออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ โดยใช้แฮชแท็กว่า เยรูซาเลมอินติฟาดะห์ มือมีดแห่งอินติฟาดะห์ ซึ่งอินติฟาดะห์มีความหมายในเชิง “การปฏิวัติ”

ในขณะที่บางส่วนได้เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า อาเบ็ดเสียชีวิต ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การระดมพลเรียกร้องและต่อต้านอิสราเอล ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์บานปลายมากขึ้นไปอีก

ด้าน กิลลาด เออร์ดัน รัฐมนตรีความมั่นคงอิสราเอล เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งผู้คนจำนวนมากอาจถูกปลุกปั่นจากการเผยแพร่ผ่านทางสมาร์ทโฟน และจบลงด้วยการที่ประชาชนออกมาสร้างความวุ่นวาย

เพราะฉะนั้น จึงมีแนวโน้มที่ “สมาร์ทโฟน” จะกลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการก่อการร้ายตามอาเบ็ดที่ถือมีดเข้าหาตำรวจในลักษณะของผู้ก่อการร้ายปฏิบัติงานคนเดียว หรือได้รับการขนานนามว่า “หมาป่าผู้เดียวดาย” (โลนวูล์ฟ) โดยผู้ก่อการร้ายประเภทนี้อาจได้รับอิทธิพลจากแนวคิด ความเชื่อหรืออุดมการณ์จากกลุ่มอื่นๆ

“พ่อ! หนูไม่อยากตาย” เป็นคำพูดของอาเบ็ดที่ได้ยินผ่านวิดีโอ ยิ่งทำให้ประชาชนปาเลสไตน์ไม่พอใจต่อตำรวจอิสราเอลเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาเบ็ดอาจยอมจำนนต่อตำรวจแล้วจากคำพูดดังกล่าว

ที่ผ่านมา อิสราเอลก็เคยประสบกับการก่อร้ายจากผู้ปฏิบัติการก่อการร้ายโดยลำพังเหล่านี้ เช่น เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2008 ชาวปาเลสไตน์ได้ใช้รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูเข้าโจมตีในเมืองเยรูซาเลม และเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2014 ผู้ก่อการร้ายใช้รถแทรกเตอร์เข้าโจมตีเมืองเยรูซาเลม

นอกจากนี้ ปัญหา “หมาป่าผู้เดียวดาย” ยังแพร่กระจายอยู่ในสหรัฐ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา โดยความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ก่อการร้าย รวมทั้งศักยภาพของผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นด้วย

การใช้สมาร์ทโฟนนับเป็นมิติใหม่ของการก่อการร้ายตรงที่ผู้ก่อการร้ายไม่จำเป็นต้องเสี่ยงชีวิตหรือใช้ความรุนแรงใดๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือเท่านั้น ด้วยเหตุนี้สมาร์ทโฟนจึงเป็นเทคโนโลยีที่อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของปาเลสไตน์ในการก่อความรุนแรงและนำไปสู่การปฏิวัติครั้งที่ 3 ก็เป็นได้

กลายเป็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียกลายเป็นงานยากของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เพราะทำให้ความพยายามของอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่จะฟื้นฟูสันติภาพระหว่างกันนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์และกลุ่มกองกำลังฮามาสได้ออกมาปฏิเสธเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ อย่างเช่นเฟซบุ๊กและยูทูบ เนื่องจากเพิ่งปิดการใช้งาน

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้ทางการอิสราเอลต้องหามาตรการและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบและดักจับความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มสังคมออนไลน์ของชาวปาเลสไตน์ ขณะเดียวกันนานาชาติก็ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ในฐานะที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงแบบใหม่

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นว่า แม้เทคโนโลยีจะมีคุณประโยชน์มากมายในการเชื่อมโยงผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกขวางกั้นด้วยกาละและเทศะ ให้สามารถเข้ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่หากใช้อย่างไม่ถูกวิธีหรือนำไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากจะเกิดผลเสียกับตนเองแล้ว ยังส่งผลต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะการสร้างความขัดแย้งที่บานปลายกลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ

ภาพ...เอเอฟพี