posttoday

โป๊ปวอนยุติโลกกระหายอำนาจ

28 กันยายน 2558

โป๊ปวิงวอนมหาอำนาจโลกยุติการกระหายอำนาจ ยิ่งโลภยิ่งทำให้โลกยากจนลง

โป๊ปวิงวอนมหาอำนาจโลกยุติการกระหายอำนาจ ยิ่งโลภยิ่งทำให้โลกยากจนลง

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงกล่าวในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก โดยเรียกร้องให้บรรดาผู้นำโลกยุติความเห็นแก่ตัว และความกระหายอำนาจที่ไม่สิ้นสุด และความมั่งคั่งทางวัตถุ อันเป็นตัวกระตุ้นปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมและการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการตำหนิหน่วยงานด้านการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อ ขจัดความยากจนและความหิวโหย ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ

โป๊ป ได้กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับความเสมอภาคครั้งใหญ่ภายในสหประชาชาติและองค์ประกอบอื่นๆ ของระบบระหว่างประเทศ ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจำกัดการละเมิดและการขูดรีดทุกประเภท โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปา ได้กล่าวอีกด้วยว่า ไอเอ็มเอฟจะต้องดูแลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศต่างๆ และต้องทำให้แน่ใจว่าประเทศเหล่านี้จะไม่ถูกควบคุมด้วยระบบกู้ยืมที่กดขี่ เนื่องจากระบบเหล่านี้ห่างไกลจากการส่งเสริมความก้าวหน้า ทั้งยังนำประชาชนไปสู่กลไกที่สร้างความยากจน การถูกกีดกัน และการพึ่งพา

ทั้งนี้ ตั้งแต่ได้รับเลือกขึ้นเป็นผู้นำของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในเดือน มี.ค. 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้มีบทบาทการวิจารณ์ที่แข็งกร้าวต่อระบบทุนนิยมและระบบเศรษฐกิจโลกมากกว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ก่อนๆ

ก่อนหน้านี้ ในถ้อยแถลงที่โบลิเวียในเดือน ก.ค. สมเด็จพระสันตะปาปาชาวอาร์เจนตินาในวัย 78 ปีผู้นี้ ได้ทรงขนานนามระบบตลาดเสรีว่า เป็น “มูลของปีศาจ” และในคำแถลงต่อสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เชื่อว่า ระบบปัจจุบันนั้นเอนเอียงไปในประเทศที่ร่ำรวย สร้างความเสียหายต่อคนยากจน

“โลกของเราต้องการให้ผู้นำรัฐบาลทุกประเทศ เสริมสร้าง ขั้นตอนและมีมาตรการที่ฉับพลันเพื่อการปกป้องและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและยุติปรากฏการณ์การกีดกันทางสังคมและเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โป๊ป กล่าว

อย่างไรก็ตาม คริสติน ลาการ์ด ผู้ว่าการไอเอ็มเอฟ ออกมาแก้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับบทบาทของกองทุนในการพัฒนา โดยกล่าวว่า ไอเอ็มเอฟได้ขยายความช่วยเหลือต่อประเทศสมาชิกเพื่อจัดการกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการวิจัยและความช่วยเหลือทางเทคนิคทั้งยังได้ขยายความช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศยากจนที่สุดของโลกด้วย