posttoday

กรีซขอเงินช่วย 4.5 แสนล้าน! ไอเอ็มเอฟหั่นแนวโน้มศก.โลก

10 กรกฎาคม 2558

รัฐบาลกรีซเตรียมเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นต่อเจ้าหนี้มูลค่า 1.2 หมื่นล้านยูโร (ราว 4.56 แสนล้านบาท) ภายในเวลา 2 ปีนี้

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

รัฐบาลกรีซเตรียมเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นต่อเจ้าหนี้มูลค่า 1.2 หมื่นล้านยูโร (ราว 4.56 แสนล้านบาท) ภายในเวลา 2 ปีนี้ ซึ่งถือว่ามากกว่าแผนเดิม เพื่อแแก้ปัญหาถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยกรีซมีเส้นตายที่จะยื่นแผนดังกล่าวซึ่งจะกำหนดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาวภายในวันพฤหัสบดี เวลา 24.00 น. ตามเวลาที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม หรือประมาณ 05.00 น. ตามเวลาในประเทศไทยในวันนี้

หนังสือพิมพ์คาธิเมรินี ของกรีซ รายงานว่า ถ้าหากแผนปฏิรูปฉบับล่าสุดซึ่งผู้นำกลุ่มยูโรโซนจะทำการพิจารณาในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.นี้ผ่านไปได้ และอนุมัติความช่วยเหลือให้กับกรีซ ก็จะทำให้กรีซรอดพ้นจากการหลุดออกจากกลุ่มยูโรโซน

อย่างไรก็ตาม สื่อกรีซระบุว่า จากแผนการเดิมที่เศรษฐกิจกรีซน่าจะเติบโตได้ที่ 0.5% ในปีนี้ แต่ทว่าจากความไม่แน่นอนล่าสุด ประกอบกับการใช้มาตรการคุมทุนในประะเทศซึ่งต่อเวลาไปจนถึงวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะทำให้เศรษฐกิจกรีซในปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยที่ประมาณ -3% ทีเดียว

“มีการประเมินกันว่าจากมาตรการเดิมที่กรีซเสนอแผนขอความช่วยเหลือไปราว 8,000 ล้านยูโร สำหรับปี 2015-2016 นั้น จะต้องเพิ่มขึ้นราว 2,000 ล้านยูโร/ปี ทำให้มูลค่าเงินช่วยเหลือทั้งหมดดจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านยูโร ในช่วง 2 ปีข้างหน้าหนี้” สื่อกรีซรายงาน

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจกรีซสามารถหลุดพ้นภาวะถดถอยมาได้หลังจากที่ติดลบมานานติดต่อกันถึง 6 ปี และทำให้ดัชนีการว่างงานของกรีซนั้นสูงถึง 25% ทีเดียว

ขณะเดียวกัน ทางด้านหนังสือพิมพ์นาฟเท็มปอริกี ได้รายงานว่า ในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับล่าสุดนี้ กรีซยังเสนอขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล โดยจะเพิ่มภาษีนิติบุคคลจากเดิมที่ 26% เป็น 28% และเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยจาก 10% เป็น 13% ด้วยเช่นกัน ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจอาหาร ร้านอาหาาร การขนส่ง และสาธารณสุขของภาคเอกชน จะเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 23% ทีเดียว และภาษีโรงแรมจะเพิ่มขึ้นจาก 6.5% เป็น 13%

อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายเหล่านี้อาจจะถูกต่อต้านจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจัดของพรรคไซรีซา ซึ่งเป็นพรรคต้นสังกัดของนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ไซปราส ของกรีซ รวมไปถึงถูกต่อต้านจาก พรรคอินดิเพนเดนต์กรีกส์ ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรของไซรีซาด้วย เนื่องจากนโยบายเหล่านี้ค่อนข้างสวนทางกับผลการลงประชามติของกรีซที่ประชาชนกว่า 61% ปฏิเสธไม่รับนโยบายรัดเข็มขัดอีกแล้ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกรีซได้ประกาศขยายระยะเวลาการใช้มาตรการควบคุมทุนต่อไปจนถึงวันจันทร์ที่ 13 ก.ค.นี้ ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนถึงตลาดพันธบัตรกรีซจะต้องหยุดทำการต่อไป รวมไปถึงการไถ่ถอนกองทุนรวม ตลอดดจนการทำธุรกรรมในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้นำยุโรปส่วนหนึ่งต่างแสดงท่าทีชัดเจนว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งถ้าหากกรีซยังล้มเหลวไม่สามารถเสนอแผนที่ถูกใจกลุ่มเจ้าหนี้ได้ กรีซก็จะต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนในที่สุด

ขณะเดียวกัน ทางด้าน เจนส์ ไวด์แมนน์ สมาชิกคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) จากเยอรมนี กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ของกรีซไม่สมควรที่จะได้รับสินเชื่อฉุกเฉินเพิ่มเพิ่ม ตราบใดที่ข้อตกลงความช่วยเหลือของกรีซยังไม่สำเร็จผล และย้ำว่า อีซีบีไม่มีหน้าที่ที่จะต้องคอยปกป้องการชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์หรือรัฐบาลใดๆ ก็ตาม

วันเดียวกัน ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับแนวโน้มเศรษฐกิจในโลกปีนี้ลง โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 3.3% ในปีนี้ ซึ่งต่ำลงกว่าเมื่อครั้งการคาดการณ์ก่อนหน้าในเดือน เม.ย. ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ขณะที่ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตได้ที่ 3.8%

ไอเอ็มเอฟให้น้ำหนักกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้เป็นหลักที่จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ นอกเหนือไปจากการแข็งค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐ และปัญหาการประท้วงหยุดงานของแรงงานท่าเรือตามชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐก่อนหน้านี้

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐนั้นไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าการเติบโตในปีนี้จะอยู่ที่ 2.5% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมซึ่งอยู่ที่ 3.1% ซึ่งภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่เชื่องช้าลงยังส่งผลต่อแคนาดาและเม็กซิโกด้วย