posttoday

เนปาลจับมือยูเอ็นช่วยสตรี-เด็กหญิงที่รับผลจากแผ่นดินไหว

02 มิถุนายน 2558

หลังจากที่เกิดภัยพิบัติแล้ว ประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศและเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ยังไม่ถูกคำนึงถึงเท่าที่ควร

โดย...กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ)

1 เดือนหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงถึง 7.8 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมาภาพแห่งความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สินและบ้านพักอาคารทำให้ความช่วยเหลือมากมายจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปเพื่อช่วยผู้ประสบภัยชาวเนปาล เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าในยามยากลำบากเพื่อนมนุษย์ย่อมช่วยเหลือกัน รัฐบาลไทยเองก็เปิดบัญชีเพื่อระดมเงินบริจาคจากประชาชนคนไทยเพื่อช่วยสมทบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านี้

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาระกิจการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian aid) สามารถแบ่งออกเป็น 3ส่วนใหญๆ ส่วนแรกคืองานกู้ภัย ช่วยชีวิต หรือ ที่เรียกกัน rescue ซึ่งเป็นภาระกิจที่งานเร่งด่วน ไม่สามารถรอช้าได้เพราะแต่ละนาทีหมายถึงความเป็นความตายของผู้ประสบภัย ปรกติ งานในช่วงนี้จะกินระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติ

ส่วนที่สองคืองานบูรณะ หรือ restoration ในส่วนนี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จะร่วมมือร่วมใจสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ให้ประชาชนกลับมาใช้ได้ในระดับพื้นฐาน เช่น มีการสร้างเต้นท์หรือค่ายพักพิง มีการจัดเตรียมน้ำดื่มน้ำสะอาด ดูแลสุขอนามัยในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีที่พักที่ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติหรือสภาพอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ มีอาหารรับประทานอย่างถูกสุขลักษณะ มีการดูแลรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อที่ผู้ประสบภัยพิบัติจะได้รับการดูแลและปกป้องจากภัยธรรมชาติและความหวาดกลัวงานนี้เริ่มไปพร้อมๆ กับงานช่วยชีวิตแต่มักจะเป็นรูปเป็นร่างที่ดีขึ้นๆ ภายในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากเกิดภัยพิบัติแล้ว

ส่วนที่สามคือการช่วยให้เกิดการฟื้นตัว recovery / reconstruction งานนี้เป็นงานที่ทำได้ดีเมื่อมีการบูรณะสาธารณูปโภค ณ ระดับหนึ่งแล้ว องค์กรหรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือส่วนมากจะดูแลผู้ประสบภัยตามความต้องการของผู้ประสบภัยเอง เช่น เด็กควรจะได้รับการปกป้องให้อยู่ที่พักเดียวกับผู้ปกครอง ดังนั้น การสร้างเต้นท์จะมีการทำที่พักให้มีลักษณะอยู่กันได้เป็นครอบครัว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดภัยพิบัติแล้ว ประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศและเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์มักเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน และหลายองค์กรอาจจะไม่ได้คำนึงถึงเพราะมักคิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะรอได้ ไม่น่าจะมีความเร่งด่วนหรือเป็นปัญหาแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับน้ำ อาหาร ยาเวชภัณท์และการกู้ภัยที่ผู้ประสบภัยต้องการ กระนั้นเองไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดภัยพิบัติสตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถรอหรือเลื่อนหรือเลือกเวลาการคลอดลูกของตัวเองได้ ยิ่งถ้ามีความซับซ้อนในการตั้งครรภ์เช่นต้องคลอดด้วยการผ่าตัดด้วยแล้ว ช่วงเวลาภัยพิบัติเช่นนี้ถือเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งของมารดามือใหม่เหล่านี้

ชูวาดรา อัชาร์ญา คุณแม่วัย 28 ปีที่เพิ่งคลอดบุตรเพียง 1 วันก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินเล่าให้ฟังถึงนาทีชีวิตว่า “ตอนนั้น ฉันอยู่ในบ้านกับลูกที่เพิ่งคลอดได้เพียง 1 วัน พื้นดินก็เริ่มสั่นสะเทือนและผนังบ้านของฉันก็ล้มพังลงมาทันที โชคดีที่ฉันหนีรอดออกมาได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด จากนั้นฉันก็อยู่ในความหวาดกลัวไปอีกหลายวัน ช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติแบบนี้เป็นฝันร้ายของแม่ที่จำเป็นต้องให้นมลูกทารกเพื่อความรอดของทารก”

กองทุนประชากรสหประชาชาติ (UNFPA) ได้ร่วมมือกับรัฐบาลเนปาลและโดยการสนับสนุนจาก มานิชา คอยราลา (Manisha Koirala) ทูตสันถวไมตรีของกองทุนประชากรสหประชาชาติและนักแสดงบอลลีวูดชื่อดังสัญชาติเนปาลร่วมกันรณรงค์โครงการแจกจ่ายชุด “Dignity kits” เพื่อช่วยให้สตรีและเด็กหญิงที่ประสบภัยในเนปาลฟื้นฟูชีวิตหลังภัยพิบัติได้อย่างมั่นใจเมื่อสตรีและเยาวชนหญิงไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากขาดผ้าอนามัยหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สำคัญด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ยิ่งทำให้ยิ่งยากต่อสตรีและเยาวชนหญิงเหล่านี้ในการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านอาหารและเข้ารับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ชุด Dignity kits ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกียวกับอนามัยเจริญพันธุ์เช่นผ้าอนามัยที่ใช้ซ้ำได้ หวี สาหรี ชุดชั้นใน ผ้าคลุม นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่เน้นความปลอดภัยของสตรีและเยาวชนหญิงเช่น ไฟฉาย ซึ่งจะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศ

“วัฒนธรรมของเนปาลคือสตรีและเยาวชนหญิงจะต้องได้รับการนับถือ หัวใจของการให้ความช่วยเหลือของ UNFPA คือ โครงการที่แจกDignity kits  ที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของสตรีและเยาวชนหญิงที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยโครงการนี้เน้นการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของสตรีและเยาวชนหญิงเหล่านี้”มานิชากล่าว

ณ ปัจจุบัน มีสตรีวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 1.4 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดย 14 พื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดซึ่งเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานทางสหประชาชาติให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือร่วมกับรัฐบาลเนปาล ในจำนวนสตรีเหล่านั้น มีประมาณ 93,000 คน เป็นสตรีตั้งครรภ์ ประมาณ 10,300 คน กำลังรอที่จะคลอดบุตร มากกว่า 1,500 คน อาจจะประสบกับการคลอดที่มีความซับซ้อนที่ต้องใช้วิธีผ่าตัด นอกจากนั้น ยังมีอีกประมาณ 28,000 คน ที่เสี่ยงต่อความรุนแรงที่เกิดกับสตรี

ติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือสตรีและเยาวชนหญิงที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในเนปาลได้ที่www.facebook.com/UnfpaThailandหรือร่วมบริจาคได้ที่ บัญชี “ช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลอดฉุกเฉินจากแผ่นดินไหว ประเทศเนปาล” ธ.ไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 004-305-455-5