posttoday

มะกันแนะไทยเลิกกฎอัยการศึก-ข้อจำกัดการพูดชุมนุม

26 มกราคม 2558

ผู้ช่วยรมว.การต่างประเทศสหรัฐฯ แนะไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-ข้อจำกัดเสรีภาพในการพูด-ชุมนุม ให้ทุกภาพส่วนมีส่วนร่วมปฏิรูปแท้จริง

ผู้ช่วยรมว.การต่างประเทศสหรัฐฯ แนะไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-ข้อจำกัดเสรีภาพในการพูด-ชุมนุม ให้ทุกภาพส่วนมีส่วนร่วมปฏิรูปแท้จริง

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวปาฐกถาพิเศษที่ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งถึง สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยในช่วงปีที่ผ่านมา

นายรัสเซลระบุว่า น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคและยังได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อ 8 เดือนก่อน ซึ่งได้ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

"เมื่อเช้านี้ ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ผมหารือกับทั้งสามท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน  ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย"นายรัสเซล

นายรัสเซลกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย โดยเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตัวเอง แต่ สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย 

"ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว  กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง"นายรัสเซลกล่าว

นายรัสเซลกล่าวว่า มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง  ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตัวเอง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย"นายรัสเซลกล่าว

ทั้งนี้การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย

นายรัสเซลกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ  มีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันมายาวนานในหลากหลายประเด็น ที่ไม่เพียงสำคัญกับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคนี้ตลอดจนอีกฟากหนึ่งของโลก  สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสายสัมพันธ์นี้ สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทย