posttoday

แฉมังกรล้วงคอพญาอินทรี ฉกข้อมูลเครื่องบินล่องหน

21 มกราคม 2558

สื่อเยอรมันเผยจีนล้วงข้อมูลเครื่องบินขับไล่ล่องหนสหรัฐ ก่อนนำไปสร้างของตัวเอง ทางการจีนลั่นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน

สื่อเยอรมันเผยจีนล้วงข้อมูลเครื่องบินขับไล่ล่องหนสหรัฐ ก่อนนำไปสร้างของตัวเอง ทางการจีนลั่นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน

นับตั้งแต่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) นำข้อมูลลับของทางการมาเปิดเผยในปี 2013 จนกลายเป็นประเด็นร้อนทั่วโลก เจ้าตัวยังคงทยอยปล่อยความลับระดับชาติออกมาเรื่อยๆ

ล่าสุดมีข้อมูลลับสุดยอดของ NSA เผยว่าจีนขโมยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเครื่องบินรบ F-35 ของสหรัฐ ที่มีความสามารถในการหลบหลีกการจับตาโดยสัญญาณเรดาร์ รวมทั้งข้อมูลที่หน่วยงานความมั่นคงและพันธมิตรพยายามหาตัวและขัดขวางการโจมตีทางไซเบอร์จากจีน

ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์แดร์ ชปีเกลของเยอรมนี ซึ่งตีพิมพ์ข้อมูลการเปิดโปงครั้งล่าสุดนี้ เผยว่า จีนล้วงข้อมูลขนาดกว่า 50 เทราไบต์ เกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ล่องหนของทางสหรัฐ รุ่น “ล็อคฮีด มาร์ติน F-35 ไลท์นิ่งทู” รวมทั้งระบบเครื่องยนต์ ระบบเรดาร์ และระบบหล่อเย็นไอเสีย เพื่อนำไปใช้เป็นแบบในการสร้างเครื่องบินรบ เฉิงตู J-20 และเสิ่นหยาง J-31 ของตัวเอง เพื่อเสริมสมรรถนะการรบทางอากาศ

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของกองทัพสหรัฐ ระบุว่า เครื่องบินรบรุ่นล่าสุดของแดนมังกรทั้งสองลำ มีรูปลักษณ์คล้ายกับเครื่องบินของสหรัฐที่จีนได้ข้อมูลไป และเมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอกจะพบว่าเหมือนกันทุกกระบิ

คาดว่า การล้วงข้อมูลครั้งนี้เกิดขึ้นไม่น่าจะช้าไปกว่าปี 2007 โดยเป้าหมายอยู่ที่บริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน ซึ่งเป็นคู่สัญญาผลิตเครื่องบินรุ่น F-35 ให้กับสหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่คาดว่าการล้วงตับน่าจะเกิดขึ้นในปี 2007 เป็นอย่างช้า เพราะก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมยืนยันเมื่อปี 2003 ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเครื่องบินรบ F-35 ได้รับการปกป้องอย่างดี

หลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงว่า ข้อกล่าวหานั้นปราศจากหลักฐาน ทั้งยืนยันว่าจีนพร้อมร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันการลักลอบเจาะฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์

เมื่อปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี โทนี่ แอบบอตต์ ของออสเตรเลีย สั่งซื้อเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 58 ลำ เสริมกำลังทางอากาศ เนื่องจาก F-35 รุ่นล่าสุดนี้เป็นเครื่องบินรบที่ดีที่สุดในโลก สามารถหลบหลีกการตรวจจับของสัญญาณเรดาร์ได้

การเสริมเขี้ยวเล็บทางอากาศของออสเตรเลียและญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีนัยตอบรับการคุกคามจากจีนโดยตรง หลังจากที่อีกฝ่ายเริ่มแสดงแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้และทะเลตะวันออกมากขึ้น เพื่อตอบรับกับกรณีพิพาทกับนานาประเทศในพื้นที่ดังกล่าว

แต่ท้ายที่สุด ชาติพันธมิตรสหรัฐกลับพบว่า จีนเองก็มีเครื่องบินรบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างเหนือความคาดหมาย