posttoday

โอบามาห่วงว่างงานถ่วงศก.ฟื้น

22 กันยายน 2552

โพสต์ทูเดย์ — ผู้นำสหรัฐห่วงตลาดงาน ตัวขวางการกลืบคืนสู่สภาพปกติ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะเริ่มออกมาในด้านบวกเกือบทั้งหมดก็ตาม

โพสต์ทูเดย์ — ผู้นำสหรัฐห่วงตลาดงาน ตัวขวางการกลืบคืนสู่สภาพปกติ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะเริ่มออกมาในด้านบวกเกือบทั้งหมดก็ตาม

ประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ยืนยันว่า ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมดที่ออกมาล้วนแต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ภาวะว่างงานยังคงรุนแรง และอาจเป็นไปได้ที่ตำแหน่งงานอาจมีไม่เพียงพอจนกว่าจะถึงปีหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ โอบามาเคยเตือนว่า อัตราว่างงานอาจพุ่งขึ้นมาถึง 10% ในเร็วๆ นี้

“ผมอยากให้รับทราบอย่างชัดเจนว่า ภาพรวมของการจ้างงานอาจยังไม่พื้นตัวได้เท่าที่ควร ทั้งยังอาจเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้” โอบามาให้สัมภาษณ์กับรายการ State of the Union ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น พร้อมย้ำว่า จะต้องมีการจ้างงานในอัตรา 1.5 แสนตำแหน่งทุกๆ เดือนเพื่อให้ทันกับการขยายตัวของจำนวนประชากร

โอบามายังเปิดเผยด้วยว่า จะยกให้เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นผู้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าการเฟดแย้มว่าภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี อาจสิ้นสุดลงแล้ว ทว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังคงอ่อนแรง

อย่างไรก็ตาม แม้โอบามาจะยอมรับว่าแนวโน้มการฟื้นตัวยังไม่มีเสถียรภาพ แต่ชี้ว่า ขณะนี้ตลาดการเงินกลับมาทำงานตามกลไกอีกครั้ง ส่วนผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ยกเว้นเพียงตลาดแรงงานที่กลายเป็นปัจจัยถ่วงเพียงประการเดียวของการฟื้นตัว

ทั้งนี้ โอบามายังมีกำหนดการที่จะกล่าวสุนทรพจน์ที่วิทยาลัยฮัดสัน วัลเลย์ คอมมูนิตี ที่นิวยอร์ก เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมและความคิดริเริ่ม โดยคาดว่า โอบามายังจะกล่าวถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงผลสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข พลังงาน และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร

นอกจากนี้ โอบามายังเรียกร้องให้ปรับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่พึ่งพาในบางด้านมากเกินไปจนกลายเป็นจุดอ่อนในระยะยาว จึงควรที่จะผลักดันให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อสนองตอบต่อความเคลื่อนไหวของตลาด

ด้านความคืบหน้าของเศรษฐกิจยุโรป ล่าสุดรายงานขององค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยให้ยุโรปมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงในอนาคตคือ ความไม่ลงรอยในประเด็นเกี่ยวกับการถอนตัวจากมาตรการกระตุ้น และถึงเวลาแล้วที่ยุโรปจะต้องยุติมาตรการบางส่วนลง