posttoday

นักวิจัยเผยโลกร้อนทำไวรัสโบราณคืนชีพ

29 ตุลาคม 2557

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐพบภาวะโลกร้อนมีผลให้ไวรัสโบราณฟื้นคืนชีพ ชี้อีโบลาอุบัติตั้งแต่23ล้านปีก่อน

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐพบภาวะโลกร้อนมีผลให้ไวรัสโบราณฟื้นคืนชีพ ชี้อีโบลาอุบัติตั้งแต่23ล้านปีก่อน

อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น หรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อน นอกจากจะทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่บีบคั้นจนไม่สามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้แล้ว ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐยังพบว่า อากาศบนโลกที่ร้อนขึ้นมีผลให้ไวรัสอายุนานกว่าหลายร้อยปีฟื้นคืนชีพด้วยเช่นกัน

การค้นพบเรื่องดังกล่าวเริ่มจากสถาบันค้นคว้าด้านระบบโลหิตในเมืองซานฟรานซิสโก ค้นพบซากมูลของกวางคาริบูในแผ่นน้ำแข็งจากเทือกเขาเซลวิน ประเทศแคนาดา จึงได้นำมาตรวจสอบ และก็พบว่าปฏิกูลดังกล่าวเป็นฟอสซิลที่ทับถมกันนานกว่า 4,000 ปี ซึ่งไวรัสที่อยู่ในชั้นน้ำแข็งนั้นมีอายุกว่า 700 ปี และยังคงสภาพสมบูรณ์ด้วยสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น โดยส่วนใหญ่เป็นไวรัสที่อยู่ในพืชหรือรา กับบางส่วนที่มาจากแมลง

ต่อมา นักวิจัยได้ใช้กระบวนการฟื้นคืนชีพพันธุกรรมไวรัสจนสามารถกลับมามีชีวิตสมบูรณ์อีกครั้ง และพบความเป็นไปได้ว่า ไวรัสเหล่านี้ปนเปื้อนจากพืชที่กวางกินเข้าไป หรืออาจมากับแมลงที่บินมาถูกมูลของกวาง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อาจมีเชื้อไวรัสอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่ฟื้นคืนชีพได้ หลังสงบนิ่งอยู่ในพื้นที่หนาวเย็นเป็นเวลานานนับพันปี หากเจอภาวะโลกร้อนลดอุณหภูมิจนน้ำแข็งละลาย ซึ่งไวรัสหลายสายพันธุ์เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลค้นพบด้วยว่า แท้จริงแล้วเชื้อไวรัสอีโบลาและเชื้อไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก ซึ่งอยู่ในตระกูลไวรัสเดียวกัน อาจเริ่มก่อตัวเป็นไวรัสตั้งแต่เมื่อ 16-23 ล้านปีที่แล้ว หลังพบพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์เดียวกับอีโบลาในจุดเดียวกับพันธุกรรมของสัตว์ฟันแทะ ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อหลายสิบล้านปีที่แล้ว หักล้างข้อมูลก่อนหน้านี้ที่เชื่อว่าเชื้อเริ่มก่อกำเนิดเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ตรงกับช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มรู้จักวิธีการทำเกษตรกรรม

ทั้งนี้ ทางนักวิทยาศาสตร์มองว่าการค้นพบดังกล่าวเป็นเรื่องดี ที่เพิ่มความเข้าใจเรื่องที่มาของอีโบลา ช่วยนำไปสู่การผลิตวัคซีนป้องกันทั้งอีโบลาและมาร์เบิร์กได้ในเวลาเดียวกันได้ง่ายขึ้น