posttoday

ปลูกถ่ายเซลล์ช่วยคนอัมพาตกลับมาเดินได้ครั้งแรกของโลก

22 ตุลาคม 2557

ทีมแพทย์จากอังกฤษและโปแลนด์ประสบความสำเร็จปลูกถ่ายเซลล์ช่วยคนไข้อัมพาตกลับมาเดินได้เป็นครั้งแรกในโลก

ทีมแพทย์จากอังกฤษและโปแลนด์ประสบความสำเร็จปลูกถ่ายเซลล์ช่วยคนไข้อัมพาตกลับมาเดินได้เป็นครั้งแรกในโลก

ความหวังที่จะรอดพ้นจากอาการอัมพาตของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก ส่องประกายชัดเจนขึ้นมาแล้ว ณ เวลานี้ เมื่อทีมแพทย์จากสถาบันประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ ร่วมกับทีมศัลยแพทย์ด้านซ่อมแซมประสาทไขสันหลังจากมหาวิทยาลัยการแพทย์วรอตสวาฟ ประเทศโปแลนด์ ประสบความสำเร็จเป็นกลุ่มแรกของโลก ในการผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ช่วยคนไข้อัมพาตซึ่งไร้ความรู้สึกตั้งแต่ช่วงอกลงไป ให้กลับมาขยับอวัยวะได้และใช้ชีวิตได้เกือบสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ดาเรค ฟิดีก้า หนุ่มชาวบัลกาเรียวัย 38 ปี ถูกกระหน่ำแทงด้วยมีดเข้าที่หลัง ทำให้ไขสันหลังกลายเป็นแผลฉกรรจ์ และส่งผลให้ร่างกายของเขาไร้ความรู้สึกตั้งแต่ช่วงอกลงไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยช่วง 2 ปีแรก เขาเข้ารับการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อนานหลายเดือน แต่ก็ไม่เห็นผลใดๆ

ฟิดีก้า จึงตัดสินใจเป็นคนไข้ทดลองของทีมแพทย์จากสองชาติ ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังนิโคลล์ส์ และมูลนิธิสเต็มเซลล์ของอังกฤษ ซึ่งหลังจากทำข้อตกลง ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนซึ่งศึกษาเรื่องการซ่อมแซมเส้นประสาทไขสันหลังนานนับ 40 ปี ได้หารือและศึกษาข้อมูลของคนไข้กับทีมศัลยแพทย์จากโปแลนด์

จากนั้นก็เริ่มการรักษา ด้วยการผ่าตัดด้วยนำกลุ่มเซลล์ประสาทรับกลิ่นจากจมูกบางส่วน ที่ทำหน้าที่ส่งกระแสไปประมวลผลที่สมองส่วนหน้าของคนไข้ ไปปลูกถ่ายเพิ่มเติม หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ เมื่อเซลล์พร้อม ทีมแพทย์ก็ย่อยเซลล์ออกเป็น 100 หน่วย และแบ่งฉีดเข้าไปที่เหนือและใต้บาดแผลขนาด 8 มม. บริเวณไขประสาทสันหลังด้านซ้ายของคนไข้ ก่อนจะนำแถบใยประสาท 4 แถบจากข้อเท้าของคนไข้เอง วางพาดบริเวณแผลเหมือนกับสะพานเชื่อม ให้เซลล์ที่ฉีดเข้าไปก่อนหน้านี้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ไขสันหลังสร้างตัวขึ้นใหม่ ถมช่องว่างที่เป็นแผล ซึ่งเวลานี้มีใยประสาทนำทางจุดที่ต้องการให้เกิดการสร้างตัว

หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นและแผลเริ่มเข้าที่ ฟิดีก้า ก็ทำกายภาพตามปกติคือ 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 5 ชม. จนเมื่อผ่านไป 3 เดือน เขารู้สึกว่าต้นขาด้านซ้ายเริ่มมีความรู้สึกทีละนิด และเริ่มหัดเดินกับราวเหล็กและอุปกรณ์ช่วยพยุงขาสองข้างในอีก 3 เดือนต่อมา

กระทั่งล่าสุดทุกวันนี้ เขาสามารถเดินโดยใช้เพียงไม้เท้าช่วยพยุง และใช้อวัยวะช่วงล่างทำกิจกรรมได้เองอย่างการขับถ่ายและการมีเพศสัมพันธ์ โดยจากการสแกน MRI ล่าสุดพบไขสันหลังปิดสนิทแล้ว แต่ยังต้องมีการกายภาพต่อ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ความสำเร็จครั้งนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็พบแนวทางสำหรับพัฒนาต่อยอดให้สมบูรณ์แบบ และมีความเป็นไปได้ว่าจะได้เริ่มผ่าตัดช่วยเหลือเชิงทดลองอีกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนอย่างการฉีดเซลล์การปลูกถ่ายใยประสาท มีความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับการปลูกถ่ายประเภทอื่น โดยหลักๆ เป็นเพราะเซลล์เหล่านี้มาจากตัวคนไข้เอง

ภาพจาก บีบีซี