posttoday

สองหนุ่มสาววัย17ผู้เขย่าโลก

12 ตุลาคม 2557

มาลาลา และโจชัว หว่อง กำลังเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

โดย...ธนพล ไชยภาษี

เพียง 5 ปีหลังจาก มาลาลา ยูซาฟไซ ได้เขียนไดอารี่ผ่านบล็อกในเว็บไซต์ข่าว "บีบีซี" ภายใต้นามปากกาว่า "กัล มาไก" บอกเล่าชีวิตของเด็กผู้หญิงในปากีสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน วันนี้เธอกลายมาเป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี 2014 ด้วยวัยเพียงแค่ 17 ปี และยังกลายเป็นผู้คว้าโนเบลอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

มาลาลา กลายมาเป็นที่สนใจทั่วโลกจาก ไดอารี่ที่เขียนสะท้อนปัญหาเด็กหญิงในปากีสถานอันเป็นพื้นที่ภายใต้การคุกคามของกลุ่มตาลีบันที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับ การศึกษา

แต่การเคลื่อนไหวในการต่อสู้เพื่อเด็กหญิงในบ้านเกิด กลายมาเป็นภัยกับตัวเอง เมื่อกลุ่มตาลีบันบุกยิงเธออย่างกระชั้นชิด เมื่อเดือน ต.ค. 2012 จนทำให้เธอเกือบจบชีวิตลง

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์อันเลวร้ายที่เธอได้ประสบจนเกือบจะจบชีวิต หาได้ทำให้มาลาลารู้สึกเกรงกลัวต่อการต่อสู้ของเธอไม่ หลังเข้ารับการผ่าตัดและฟื้นฟูที่อังกฤษ มาลาลายังเดินหน้าทำงานรณรงค์เพื่อเด็กและสตรีต่อไปทั่วโลก ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 20 ปี อีกทั้งยังได้ก่อตั้งมูลนิธิในชื่อของตนเอง เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านการศึกษา

"พวกเขาคิดว่ากระสุนจะทำให้เราเงียบได้ แต่พวกเขาคิดผิด กระสุนได้ทำให้พวกเขาออกมาจากความเงียบพร้อมกับเสียงนับพัน ฉันไม่เคยเกลียดตาลีบันคนที่ยิงฉัน และแม้ว่าถ้าฉันมีปืนอยู่ในมือ ฉันก็จะไม่ยิงเขาแน่นอน" มาลาลา กล่าวสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว

ปี 2013 มาลาลา วัย 16 ปี ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด ในปีเดียวกันมาลาลายังได้รับรางวัลชาการอฟ สาขา "เสรีภาพแห่งความคิด" จากรัฐสภายุโรป และออกอัตชีวประวัติของตนเองชื่อว่า "ไอ แอม มาลาลา"

ทั้งนี้ มาลาลาได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลสำหรับเด็กเมื่อปี 2011 และในปีเดียวกันนั้น เธอได้รับรางวัลเยาวชนแห่งชาติเพื่อสันติภาพจากรัฐบาลปากีสถาน

ทางด้าน ประธานาธิบดี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน ถึงกับยกย่องเธอว่า "มาลาลาคือความภาคภูมิใจแห่งปากีสถาน เธอได้ทำให้คนทั้งประเทศภูมิใจอย่างที่สุด ความสำเร็จไม่อาจมีสิ่งใดเทียบเคียงได้ เด็กหญิงและเด็กชายทั่วโลกควรลุกขึ้นมาสานต่อในสิ่งที่เธอได้พยายามไว้"

ขณะที่ บันคีมุน เลขาธิการแห่ง สหประชาชาติ ได้บรรยายถึงมาลาลาว่า "เธอเป็นเด็กที่หาญกล้า และเป็นนักการทูตแห่งสันติภาพที่อ่อนโยน เป็นเด็กที่ผ่านการศึกษาในโรงเรียนธรรมดาๆ แต่กลับกลายมาเป็นครูของโลกได้อย่างน่าทึ่ง"

นี่คือหนึ่งของผู้เปลี่ยนโลก

โจชัว หว่อง ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าฮ่องกง

หนุ่มวัยรุ่นร่างผอมบาง ใส่แว่นหนาเตอะ ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนนับหมื่นที่กำลังล้อมพื้นที่ใจกลางเกาะฮ่องกง เสียงอันนุ่มลึกของเขาได้ยินกังวานไปทั่วถึงหัวใจของผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วฮ่องกง

หนุ่มวัย 17 ปีคนนี้ คือ โจชัว หว่อง ผู้นำการประท้วงฮ่องกงที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 10 ริกเตอร์ทีเดียว

"เมื่อผมได้ยินเสียงเพลงชาติ (จีน) แน่นอนผมไม่รู้สึกรู้สาอะไรนัก นอกจากความโกรธ เมื่อพวกเขาบอกคุณให้ลุกขึ้น ใครไม่ลุกจะต้องเป็นทาส ทำไมเราต้องถูกปฏิบัติไม่ต่างไปจากทาสด้วย?" หว่องตะโกนลั่นในระหว่างการประท้วงเมื่อเช้าวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นวันชาติจีน

โจชัว หว่อง เด็กหนุ่มร่างบางคนนี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้เล่น" สำคัญของการเมืองฮ่องกงตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยเป็นผู้นำนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลที่กำลังยัดเยียดหลักสูตรการศึกษาแบบ "รักชาติ (จีน)" ขึ้นในฮ่องกง

หว่องได้กลายมาเป็นผู้นำการประท้วง ถูกทางการจับตัว และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับที่ฝักใฝ่ปักกิ่งตราหน้าว่าเขาเป็นเครื่องมือของสหรัฐที่กำลังทำลายจีน

โจชัว หว่อง คือ ปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองโลกที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวที่มีต่อการเมืองการปกครองในยุคอินเทอร์เน็ต ทำให้เด็กหนุ่มรายนี้กลายมาเป็นผู้นำสังคมคนสำคัญของฮ่องกง แทนที่จะเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเช่นที่ผ่านมา

หว่องเคยถูกทางการควบคุมตัวนาน 2 วัน หลังจากที่เป็นผู้เริ่มก่อหวอดการประท้วง หลังจากนั้นภาพการจับกุมก็ถูกส่งต่อๆ กันไปผ่านโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว กลายเป็นการเรียกแขกชั้นดีให้ผู้ประท้วงนับหมื่นออกมาสนับสนุนและเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัว

อิทธิพลของ โจชัว หว่อง ได้ปลุกคนฮ่องกงให้ตื่น จนทำให้การประท้วงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่และบนท้องถนน และยืดเยื้อมากขึ้น แม้ทางการจะเริ่มใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยสลายการประท้วงก็ตาม

หว่องถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 1996 เพียง 9 เดือนก่อนที่ฮ่องกงจะกลับคืนสู่อ้อมอกของจีน ในวันที่ 1 ก.ค. 1997 เขาเติบโตขึ้นมาภายใต้อ้อมอกของจีน แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขายอมรับในอิทธิพลของจีนที่พยายามกลืนฮ่องกงทีละเล็กละน้อยแต่อย่างใด

ในวันนี้ หว่องยังมีอายุไม่ถึง 18 ปี แต่กลับมีบทบาททางการเมืองที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมเมื่ออายุได้ 14 ปี โดยร่วมกับเพื่อนจัดตั้งกลุ่ม "สกอลาริซึม" เพื่อต่อสู้กับระบบการศึกษาที่ยัดเยียดความรักชาติ (จีน) ให้กับเด็กฮ่องกง ซึ่งแผนการนี้เสนอขึ้นโดย เหลียงชุนยิ่ง ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงอันเป็นเงาของรัฐบาลกรุงปักกิ่งนั่นเอง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสกอลาริซึมส่วนใหญ่จะปรากฏผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อมีกลุ่ม นักเรียนและนักศึกษาให้ความร่วมมือมากขึ้น กลุ่มนี้ก็มีพลังและอิทธิพลมากขึ้น จนนำไปสู่การเดินขบวนรณรงค์ต่อต้านหลักสูตรรักชาติจีนครั้งแรกในปี 2012 นับตั้งแต่นั้นมา กลุ่มสกอลาริซึมก็กลายเป็นกำลังหลักในการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

"หากคุณพูดว่าเด็กนักเรียนในฮ่องกงจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อห้าปีที่แล้ว เชื่อว่าจะไม่มีใครเชื่อคุณหรอก สำหรับเด็ก นักเรียนนักศึกษาแล้ว พวกเรามีความอดทน และยึดมั่นในหลักการ พร้อมๆ กับความดื้อในอุดมคติอยู่ในตัว หากไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาแล้ว ใครล่ะจะมาเป็นผู้นำในแนวหน้า" หว่อง เคยให้สัมภาษณ์กับเดอะ ไทมส์ เมื่อเดือน ก.ค.

หว่อง บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจทางการเมืองจากพ่อแม่ของตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงที่วิตกกังวลต่อความอยุติธรรมในสังคมมากขึ้น พวกเขาบอกว่ารู้สึกภูมิใจในตัวลูกชาย

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของหว่อง และกลุ่มผู้ประท้วงครั้งนี้ก็คือไม่ประนีประนอม ซึ่งถือว่าค่อนข้างสวนทางกับธรรมเนียมของประชาธิปไตยแบบฮ่องกง โดยหว่องกล่าวชัดว่า การประนีประนอมโดยที่คุณไม่เคยต่อสู้เลยนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลนัก

"ผมไม่มีปัญหากับการเจรจาต่อรองนะ แต่ก่อนที่จะคุยกัน คุณต้องมีความเป็นต่ออยู่ในมือเสียก่อน หากคุณไม่มีสิ่งนั้น แล้วคุณจะกรำศึกได้อย่างไร" หว่อง กล่าว

บทบาทของ โจชัว หว่อง ได้ถูกวิเคราะห์ไว้อย่างน่าฟังโดย เฉินยุนชุง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัย หลิงหนานในฮ่องกง ว่า หว่องคือการผสมผสานกันอย่างยอดเยี่ยมของทักษะด้านการจัดการ (ม็อบ) และทักษะในด้านอุดมคติทางการเมือง ที่แทบจะกลบรัศมีของฝ่ายรัฐบาลและคนรุ่นเก่าจนมิดทีเดียว

"ความนึกคิดของพวกเขาแตกต่างจากคนรุ่นเก่ามาก ผมขอเรียกพวกเขาว่าพวกกลายพันธุ์ดีกว่า เหมือนกับเอ็กซ์เมนนั่นแหละ พวกเขารู้ดีว่า สิ่งที่ทำลงไปไม่ใช่แค่ความฝัน พวกเขารู้ดีว่าอาจจะไม่ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ก็พร้อมที่จะสู้ต่อไป หว่องคือตัวแทนของการต่อต้านทางวัฒนธรรมที่มีความมานะและยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างยิ่ง"

นี่คือสองหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่แม้ว่าวัยจะยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ผลงาน ความเชื่อมั่น ความศรัทธาในอุดมคติที่แน่วแน่ของทั้งสองคน กลับสร้างความตื่นตาตื่นใจครั้งใหม่ให้กับโลก

แน่นอนว่า มาลาลา และโจชัว หว่อง กำลังเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การแสดงออก และความ เชื่อมั่น ที่จะเป็นอนาคตของโลกใบนี้ต่อไป