posttoday

เครื่องบินMH17ตกไม่สะเทือนรัสเซีย

25 กรกฎาคม 2557

นักวิชาการไทยจัดเสวนาโศกนาฎกรรมMH17 ชี้อียูเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเล็กน้อย-ตลาดเกิดใหม่พร้อมยืนเคียงข้าง

นักวิชาการไทยจัดเสวนาโศกนาฎกรรมMH17 ชี้อียูเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเล็กน้อย-ตลาดเกิดใหม่พร้อมยืนเคียงข้าง

หลังจากเเกิดเหตุ เครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบินเอ็มเอช 17 ถูกยิงตกเมื่อวันที่ 17 ก.ค.  บริเวณพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฎแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซีย ทำให้นักวิชาการหลายสำนักคาดว่า กรณีดังกล่าวจะมีแนวโน้มจะกระตุ้นให้ นานาชาติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื่อกันว่า รัสเซียเป็นผู้สนับสนุน กลุ่มกบฎ และเป็นผู้สนับสนุน เครื่องขีปนาวุธ รุ่นเอสเอ 11 หรือที่รู้จักกันในนาม "บัค" ให้กลุ่มกบฎอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศรัสเซีย แสดงความเห็นในการเสวนาหัวข้อ "ถนนสู่ความโศกนาฎกรรม MH17" ว่า กรณีเครื่องบินเอ็มเอช 17ตกจะเป็นการกดดันให้สหภาพยุโรป (อียู) ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยจำกัดอยู่เฉพาะในวงผู้ใกล้ชิด ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เช่นเดิม เพราะในความเป็นจริง อียูยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

อ.จิตติภัทรอธิบายต่อไปว่า อียูไม่สามารถหาฉันทามติในประเด็นการคว่ำบาตรได้ เนื่องจากประเทศรายใหญ่ในอียูอย่างเยอรมนียังคงพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ถึงแม้ว่าประเทศในยุโรปตะวันออกจะสนับสนุนให้อียูออกมาตรการดังกล่าวก็ตาม

ความเห็นดังกล่าวสอดรับกับทัศนะของ อาจารย์ ไบรอัน เคนเนดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเมือง แสดงความเห็นว่า ไม่ว่า ข้อเท็จจริงกรณีเครื่องบินเอ็ม 17 ตกจะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายจะพยายามอธิบายว่าประเด็นนี้เป็นอุบัติเหตุ เพราะเป็นคำอธิบายที่ส่งผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอียูที่ไม่ต้องการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องพลังงานนับเป็นไพ่ใบเดียวที่รัสเซียถือเหนืออียู ซึ่งคงใช้ได้อีกไม่นาน เนื่องจากอียูก็กำลังอยู่ในระหว่างเสาะหาแหล่งนำเข้าพลังงานจากแหล่งใหม่เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ยากที่รัสเซียกรณีเอ็มเอช 17 จะกระทบต่อนโยบายสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ของรัสเซีย เพราะตลาดเกิดใหม่ให้การสนับสนุนรัสเซียอยู่ก่อนแล้ว บนเวทีโลก โดยเฉพาะกลุ่มบริกส์ ที่แทบไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อกรณีที่รัสเซียเข้าผนวกไครเมียเป็นดินแดน

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองยังแสดงวิเคราะห์ตรงกันว่า มีแนวโน้มสูงมากที่กลุ่มกบฎในยูเครนจะเป็นฝ่ายยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินลำดังกล่าว แม้จะยังหาไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นเแรงจูงใจได้ แต่เชื่อว่ากลุ่มกบฎไม่ได้ตั้งใจจะยิ่งใส่เครื่องบินพลเรือน โดย อ. จิตติภัทร อธิบายว่า กลุ่มกบฎไม่เทคโนโลยีสำหรับระบุตัวตนของเครื่องบินที่บิน จึงไม่ทราบว่าเครื่องบิน เอ็มเอช 17 เป็นเครื่องบินของฝ่ายใด และก่อนหน้านี้ กลุ่มกบฎยังเคยยิง เครื่องบินของกองทัพยูเครนตกไปแล้วหลายลำ