posttoday

WWFพบ15สัตว์พันธุ์ใหม่แถบลุ่มน้ำโขง

05 มิถุนายน 2557

ข่าวดีวันสิ่งแวดล้อมโลก WWFเผยรายงานฉบับใหม่ระบุพบ 15 สัตว์สายพันธุ์ใหม่ในเขตประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

WWFเผยรายงานฉบับใหม่ระบุพบ 15 สัตว์สายพันธุ์ใหม่ในเขตประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

วันนี้ (5 มิ.ย.) ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อ 'แม่น้ำโขงอันลี้ลับ' โดยระบุว่านักวิทยาศาสตร์มีการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 15 ชนิด ระหว่างปี 2012-2013 ในพื้นที่แม่น้ำโขงกินบริเวณอาณาเขตพาดผ่านทั้ง กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในเขตมณฑลยูนนาน ประกอบด้วย

กระรอกบินยักษ์ (Biswamoyopterus laoensis) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือขนสีแดงขาวอันเด่นชัด ค้นพบที่ประเทศลาว ถือเป็นกระรอกยักษ์ตัวแรกที่ถูกค้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกกระจิบกัมพูชา (Orthotomus chaktomuk)  ค้นพบครั้งแรกที่กรุงพนมเปญ  ระหว่างการตรวจค้นในช่วงแพร่ระบาดของไข้หวัดนก  ค้างคาวหน้ายักษ์ (Griffin’s leaf-nosed Bat ) กล่าวกันว่าอาจจะเป็นหนึ่งในสายพันธ์สัตว์ที่น่าเกลียดชนิดหนึ่งของโลก มีจุดเด่นคือจมูกขนาดใหญ่ที่ยื่นมาข้างหน้าอย่างสลับซับซ้อนของมันช่วยในการล่อจับเหยื่อ อีกทั้งยังสามารถใช้ในการนำทางด้วย พบบนเกาะแคทบาของเวียดนาม  ปลาขนาดจิ๋ว ลักษณะโปร่งใสจนมองทะลุเห็นอวัยวะภายใน (Phallostethus cuulong) มีอวัยวะเพศอยู่ด้านหลังของปากทำให้มันผสมพันธุ์โดยใช้หัวสัมผัสกับหัว ซึ่งเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งถูกค้นพบในเวียดนาม 

กบบิน (Rhacophorus helenae) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ถูกค้นพบที่เมืองโฮจิมินในเวียดนาม  ชอบร่อนตัวระหว่างบนยอดไม้ โดยใช้พังผืดที่เป็นครีบบนมือและเท้า พวกมันจะลงมาจากยอดไม้เพื่อผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำเท่านั้น ตุ๊กแกบินลายพราง (Ptychozoon kaengkrachanense) ค้นพบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประเทศไทย อาศัยการยืดผิวหนังด้านข้างของลำตัวและบนนิ้วเท้าเพื่อร่อนตัวไปมาตามกิ่งไม้ ขณะที่ประเทศลาว มีการค้นพบ แมงมุมนักล่าสายพันธุ์ใหม่ (Sinopoda scurion) เป็นแมงมุมนักล่าชนิดแรกในโลกที่ไม่มีดวงตา วิวัฒนาการดังกล่าวเกิดจากการที่มันอาศัยอยู่ภายในถ้ำซึ่งไร้แสงอาทิตย์และมืดมิด

นอกจากนี้ยังมี งูแมวเซาหัวขาว (White-head Burmese viper) พบที่เวียดนาม  จิ้งเหลนสีรุ้ง (Rainbow lizard) พบในกัมพูชา ตุ๊กแกถลาลม (Skydiving gecko) จิ้งจกทางม้าลาย (Zebra-striped lizard)  ปลาชะโดพันธุ์ใหม่ (Fishzilla walking snakehead fish) ปลาปักเป้าบึงพันธุ์ใหม่ (freshwater pufferfish สกุล Tetraodon ) ปลาตัวเล็กยาว 12 ซม.สีสันสวยงาม ไม่เป็นพิษกินได้ทั้งตัว  และ งูสายม่าน Dendrelaphis nigroserratus พบในประเทศไทย

“การค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆเป็นการยืนยันและย้ำว่าแม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในเขตพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งนึงของโลก  
 ถ้าเราต้องการที่จะปกป้องสัตว์เหล่านี้ไม่ให้สูญพันธุ์และอยากมีความหวังที่จะมีการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ในปีต่อๆไป เหล่ารัฐบาลต้องลงทุนและผลักดันโครงการอนุรักษ์และปลูกป่า”Dr. Thoman Gray ผู้จัดการของโครงการ WWF สายพันธุ์แม่น้ำโขง กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับใหม่ที่ชื่อ“แม่โขงอันลี้ลับ” มุ่งเน้นไปยังสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 15 ชนิดที่พึ่งถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ จากพืช 290 ชนิด ปลา 24 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 21 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิดและนก 1 ชนิด ทั้งหมดถูกขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการในช่วงปี 2012-2013 จากแม่น้ำโขงพื้นที่นี้กินบริเวณอาณาเขตพาดผ่านทั้ง กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในเขตมณฑลยูนนาน  ตั้งแต่ปี 1997 สายพันธุ์ใหม่กว่า 2077 ชนิดได้ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ในเขตแม่น้ำโขง

อ่านรายงานเรื่อง“แม่โขงอันลี้ลับ” ได้ที่

http://wwf.panda.org/what_we_do/where_we_work/greatermekong/discovering_the_greater_mekong/species/new_species/

 

WWFพบ15สัตว์พันธุ์ใหม่แถบลุ่มน้ำโขง ปลาปักเป้าบึงพันธุ์ใหม่

 

WWFพบ15สัตว์พันธุ์ใหม่แถบลุ่มน้ำโขง ค้างคาวหน้ายักษ์

 

WWFพบ15สัตว์พันธุ์ใหม่แถบลุ่มน้ำโขง แมงมุมน

 

WWFพบ15สัตว์พันธุ์ใหม่แถบลุ่มน้ำโขง จิ้งเหลน

 

WWFพบ15สัตว์พันธุ์ใหม่แถบลุ่มน้ำโขง ตุ๊กแกบินลายพราง