posttoday

เตือนเลี่ยงสัมผัสอูฐโดยตรงเชื่อเป็นเหตุไวรัสเมอร์ส

13 พฤษภาคม 2557

ทางการซาอุฯ คาดอูฐเป็นต้นเหตุการระบาดของไวรัสมรณะ แนะประชาชนเลี่ยงสัมผัสอูฐโดยตรง กินเนื้อและนมอูฐที่ผ่านความร้อนแล้ว

ทางการซาอุฯ คาดอูฐเป็นต้นเหตุการระบาดของไวรัสมรณะ แนะประชาชนเลี่ยงสัมผัสอูฐโดยตรง กินเนื้อและนมอูฐที่ผ่านความร้อนแล้ว

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการซาอุดิอาระเบียออกคำเตือนใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการอูฐ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่มาของเชื้อไวรัสสายพันธุ์มรณะอย่าง โคโรนาไวรัส เมอร์ส ที่ระบาดอย่างหนักในดินแดนแถบอ่าวเปอร์เซีย และยังมีรายงานด้วยว่าพบผู้ติดเชื้อในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน อียิปต์ เลบานอน รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เคยเดินทางมาหรือทำงานในซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) แล้ว 147 รายจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 491 คน ในซาอุดิอาระเบีย นับตั้งแต่พบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2012 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามทำความเข้าใจกับการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากไวรัสชนิดนี้ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนหรือแอนตี้ไวรัสในการยับยั้งการระบาดของโรค อย่างไรก็ดี ทางการซาอุดิอาระเบียพยายามที่จะหาแนวทางในการควบคุมไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเกือบทุกวัน

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรซาอุดิอาระเบียยังแนะนำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอูฐสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อจะได้ไม่สัมผัสอูฐโดยตรง หลังผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขซาอุดิอาระเบียชี้ว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างอูฐกับไวรัสมรณะนี้ ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า ไวรัสเมอร์สนี้มีการระบาดในอูฐอย่างน้อย 20 ปีแล้ว และอาจจะเกิดการแพร่่เชื้อโดยตรงจากสัตว์สู่คนได้

เอเอฟพียังระบุด้วยว่า ไวรัสเมอร์สจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสซาร์ส ที่เคยระบาดในเอเชียเมื่อปี 2003 ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อถึง 8,273 คน และมีผู้เสียชีวิตถึง 9% จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม อับเดล ฟาคีช รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบีย จึงแนะนำให้ประชาชนต้มนมอูฐหรือปรุงเนื้ออูฐให้สุกก่อนรับประทาน โดยคำแนะนำดังกล่าวมีขึ้นหลังพบกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังเตรียมการประชุมฉุกเฉิน เพื่อหารือเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ เป็นครั้งที่ 5 ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นในการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สนี้

ภาพ: เอ็นวายเดลีนิวส์