posttoday

จีนตัดใจทิ้งหนี้เน่า-มุ่งรักษาวินัยการเงิน

27 มีนาคม 2557

ผลจากการทำธุรกรรมการเงินด้วยความเสี่ยง จนทำให้ทุนสำรองเงินของธนาคารมีน้อยมาก ทำให้ธนาคารจีนหลายแห่งเสี่ยงที่จะล้มลง

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างยิ่งสำหรับประเด็นปัญหาในระบบภาคการเงินของจีน หลังจากเมื่อวานนี้มีรายงานข่าวว่า ประชาชนจำนวนมากในเมืองหยานเฉิน มณฑลเจียงซู แห่กันมาถอนเงินออกจากธนาคารขนาดเล็ก 2 แห่งในเมืองดังกล่าว หลังเกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่าธนาคารดังกล่าวอาจล้มละลายในเร็วๆ นี้ เพราะที่ผ่านมาธนาคารในเมืองดังกล่าวหลายแห่งมีปัญหาการปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นจำนวนมาก

และยิ่งเมื่อรัฐบาลปัจจุบันได้ออกมาส่งสัญญาณชัดแล้วว่าจะปล่อยให้สินเชื่อและผลิตภัณฑ์การเงินบางตัวที่ไร้คุณภาพบางส่วนผิดนัดชำระขึ้น เพื่อสร้างวินัยการเงินการลงทุนขึ้น ก็ทำให้หลายฝ่ายวิตกต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนเป็นอย่างยิ่ง

ร้อนไปถึงผู้ว่าการเมืองหยานเฉิน ต้องโดดเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้วยการวอนขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือ พร้อมย้ำว่า บัญชีเงินฝากของประชาชนที่อยู่ในธนาคารจะยังคงได้รับการปกป้อง

แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะสร้างความหวั่นวิตกขึ้นในระบบการเงินจีนอยู่บ้าง แต่การส่งสัญญาณของผู้นำจีนถือเป็นสิ่งดีต่อระบบการเงินของจีนในระยะยาวทีเดียว

โดยเฉพาะในระหว่างประชุมสภาประชาชนจีน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ได้ระบุออกมาชัดเจนแล้วว่า จะยอมปล่อยให้หนี้เสียที่เกิดจากการออกระดมขายผลิตภัณฑ์การเงินในตลาดหุ้นกู้ผ่านทางธนาคารที่ไม่มีประสิทธิภาพกลายเป็นหนี้เสียได้บางส่วน

ถ้อยแถลงของผู้นำแดนมังกรไม่ใช่คำขู่ เพราะล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้มีกรณีการผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้เป็นครั้งแรกบนแผ่นดินมังกรของบริษัท เฉาลี โซลาร์ เอนเนอร์จี ผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ในนครเซี่ยงไฮ้ หลังจากที่ไม่สามารถหาเงินจำนวนกว่า 89.8 ล้านหยวน มาจ่ายให้กับนักลงทุนตามที่สัญญาไว้ได้

การปล่อยให้หุ้นกู้ของบริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นผลดีต่อระบการเงินของจีนไม่น้อย เพราะเปรียบเสมือนการออกมาสั่งสอนให้บรรดาผู้ออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ไร้คุณภาพเริ่มหันกลับมาทบทวนตนเองก่อนที่จะออกขายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการสั่งสอนให้ฟากของนักลงทุนเรียนรู้ที่จะบริหารความเสี่ยงเอาเอง เพราะที่ผ่านมานักลงทุนมัวแต่เคยชินแต่การแบมือขอรัฐบาลเข้ามาอุ้มยามเกิดปัญหา จนทำให้เคยตัวและก่อให้เกิดนิสัยการลงทุนแบบผิดๆ

ดังนั้น ในอนาคตนักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่าอาจได้เห็นหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ ผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น แต่จะไม่ใหญ่โต เพราะส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ กระจก และอะลูมิเนียม เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้ลดลง

ทั้งนี้ การลงทุนที่เคยตัวและความเข้าใจผิดๆ ว่า เมื่อเกิดปัญหารัฐบาลจะเข้ามาอุ้ม มีส่วนทำให้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์การเงินในตลาดหุ้นกู้และทรัสต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างข้อมูลของบริษัท ไชนาสโคป ไฟแนนเชียล ว่า ในปีที่แล้วบริษัทเอกชนจีนออกขายหุ้นกู้ในตลาดเพื่อระดมเงินจากนักลงทุนมากถึง 1.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2011 เกือบถึง 50%

อย่างไรก็ตาม แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่าการปล่อยให้หนี้ในตลาดหุ้นกู้ของเอกชนจีนบางส่วนล้มลง จะเป็นผลดีต่อตลาดการเงินของจีนในระยะยาว ทว่าในอีกมุมหนึ่งนักวิเคราะห์ก็มองว่า รัฐบาลจีนคงจะไม่ปล่อยให้หนี้ในตลาดหุ้นกู้และทรัสต์ทั้งหมดต้องล้มลงอย่างเด็ดขาด และน่าจะหาทางยื่นมือเข้ามาช่วย โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ เพราะหวั่นว่าจะกระทบกระเทือนทั้งระบบการเงินของประเทศ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ขนาดของปัญหานั้น “ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มลง”

เนื่องจากผลิตภัณฑ์การเงินหุ้นกู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมผ่านผลิตภัณฑ์การเงินที่ชื่อว่า ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (ดับเบิลยูเอ็มพี) ซึ่งออกขายโดยบริษัทเอกชนผ่านทางธนาคารมีขนาดใหญ่โตมากในระบบภาคการเงินของจีน และที่ผ่านมาก็มีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อยากลำบาก ทำให้นักลงทุนและบริษัทต่างๆ หันมาออกขายหุ้นกู้ในตลาดเพื่อระดมเงินไปลงทุนต่อ

เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนชาวต่างชาติมองหาแหล่งลงทุนที่นอกเหนือจากการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ให้ผลตอบแทนสูง

ดังนั้น เหล่าธนาคารต่างๆ จึงหันมาออกขายผลิตภัณฑ์การเงินที่ชื่อว่า “ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล” พร้อมกับยื่นออปชั่นล่อตาล่อใจด้วยการให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากทั่วไป

จึงไม่แปลกที่การระดมออกขายผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นกู้และทรัสต์ผ่านทางธนาคารพาณิชย์ในจีน จะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยต้นปี 2014 ขยายตัวขึ้นมาถึง 11 ล้านล้านหยวน จากเดิมในปี 2011 ซึ่งมีอยู่เพียงแค่ 2 ล้านล้านหยวนเท่านั้น

ทั้งนี้ การออกขายผลิตภัณฑ์การเงินดับเบิลยูเอ็มพี ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสถาบันการเงินนอกภาคธนาคาร หรือ "ธนาคารเงา" เพราะไม่มีการกำกับดูแลเหมือนในสถาบันการเงินในภาคธนาคารทั่วไป ทำให้ธนาคารสามารถนำเงินไปลงทุนในแบบที่ธนาคารปกติทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ธนาคารไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการกันเงินสำรองตามกฏหมาย

ดังนั้น ผลจากการทำธุรกรรมการเงินด้วยความเสี่ยง จนทำให้ทุนสำรองเงินของธนาคารมีน้อยมาก กอปรกับเงินที่ไปลงทุนไม่ได้ผลกำไรตามเป้า ก็ทำให้ธนาคารจีนหลายแห่งเสี่ยงที่จะล้มลง

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐบาลยังจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปโอบอุ้มหุ้นกู้และทรัสต์ต่างๆ ขนาดใหญ่ที่เสี่ยงจะประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้อยู่ ซึ่งในระหว่างการประชุมรัฐบาลจีนก็เผยเป็นนัยๆ อยู่ว่า หนี้บางส่วนรัฐอาจจำเป็นต้องโอบอุ้มไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินโดยรวม