posttoday

ผู้นำโสมแดงไม่ใช่คนแรกที่ได้รับเลือกตั้ง100%

16 มีนาคม 2557

บีบีซีเปิดเผยรายงาน เหตุใดผู้นำเผด็จการจึงได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น เผยคิมจองอึนไม่ใช่ผู้นำคนแรกที่ได้รับคะแนนเลือกตั้ง 100%

บีบีซีเปิดเผยรายงาน เหตุใดผู้นำเผด็จการจึงได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น เผยคิมจองอึนไม่ใช่ผู้นำคนแรกที่ได้รับคะแนนเลือกตั้ง 100%

การเลือกตั้งเกาหลีเหนือที่ผ่านมา ได้ว่าสร้างเสียงฮือฮาไปทั้งโลก หลังจากที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่า คิม จอง อึน ท่านผู้นำแห่งดินแดนโสมแดงได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายถึง 100%  ซึ่งหมายความว่าประชาชนชาวเกาหลีเหนือเทคะแนนเสียงให้ คิม จอง อึน เป็นผู้นำต่อไป ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งดังกล่าวจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังก็ตาม

อย่างไรก็ดี ท่านผู้นำเกาหลีเหนือผู้นี้ที่ไม่ใช่คนแรกที่ได้รับคะแนนเสียง 100 % อดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ของอิรักเคยชนะการเลือกตั้งปี 2002 ที่ 100 % เช่นกัน

ขณะที่ คิม จอง อิล อดีตผู้นำเกาหลีเหนือผู้เป็นพ่อของ คิม จอง อึน ก็ได้คะแนนไม่น้อยกว่าลูกชายที่ 99.9% นอกจากนี้ ยังมี ราอุล คัสโตรของคิวบาที่ได้คะแนน 99.4 % ในปี 2008 และประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซัด ของซีเรียเคยได้รับการคะแนนเสียงถึง 97.6% สำหรับการลงประชามติเลือกประธานาธิบดีในปี 2007

ทั้งนี้ การที่ผู้นำได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถือเป็นเรื่องปกติในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ โดยการผลการเลือกตั้งได้ถูกวางไว้ก่อนหน้าแล้ว โดย ไมเคิล สเวตลิค รองประธานาธิบดีของมูลนิธิระบบการเลือกตั้งสากล ระบุว่า การที่ผลการคะแนนเสียงของการเลือกตั้งเทไปด้านเดียวนั้น เนื่องจากประชาชนเกรงว่าหากการโหวตในทางตรงกันข้ามจะถูกลงโทษ

นอกจากนี้ สเวลิคระบุต่อไปว่า อันที่จริงระบอบเผด็จการแทบจะไม่มีคู่แข่งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเมืองต้องมีการแข่งขัน ดังนั้นผู้นำในระบอบเผด็จการจึงสร้างการแข่งขันขึ้นมา

ถึงแม้ว่าในบางประเทศจะมีคู่แข่งทางการเมืองจริงๆ ทว่าส่วนมากมักอ่อนแอและขาดทรัพยากรในการต่อสู้กับพรรคที่ครองเสียงข้างมาก สอดรับกับทัศนะของ โทมัส ลุนเบิร์ก นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกลาสโกวในสกอตแลนด์ ที่ว่า การเลือกตั้งใดก็ตามคะแนนเสียง 2 ใน 3 ถูกเทให้กับพรรคเดียว มีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้งนั้นจะถูกครอบงำและปราศจากยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์การลงคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย ยังเกิดจากการแสดงออกเพื่อต่อต้านผู้ที่กำลังครอบงำอยู่ รายงานระบุต่อไปว่า กรณีดังกล่าวจึงเป็นคำอธิบายว่า เหตุใดพรรคภราดรภาพมุสลิมของอิยิปต์จึงได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 70 % ในการเลือกตั้งปี 2012

ที่มา: บีบีซี