posttoday

ตีแผ่เด็กไทยปั้นใบสมัครยื่นเรียนต่อนอก

15 กุมภาพันธ์ 2557

ซีเอ็นเอ็น ตีแผ่เบื้องหลังใบสมัครเรียนต่อเมืองนอก พบเด็กไทยแต่งเรื่องหลอกลวงเพียบ

ซีเอ็นเอ็น ตีแผ่เบื้องหลังใบสมัครเรียนต่อเมืองนอก พบเด็กไทยแต่งเรื่องหลอกลวงเพียบ

ซีเอ็นเอ็น มันนี่ เปิดเผยรายงานโดยอ้าง แดเนียล เกรย์สัน รองผู้อำนวยการฝ่ายรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในสหรัฐ ผู้ซึ่งเป็นคนตรวจใบสมัครของผู้สมัครเข้าเรียนที่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า เกรย์สันได้ปฏิเสธใบสมัครของผู้สมัครจากประเทศไทยในปี 2013 ถึง 1 ใน 4 อันเนื่องมาจากสงสัยว่าใบสมัครนั้น 'ดูดีเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง'

เกรย์สันคิดว่า มีบางอย่างที่แปลกๆ เกี่ยวกับผู้สมัครคนไทยคนหนึ่งที่ระบุมาในใบสมัครว่า เพื่อนในวัยเด็กของตนเองนั้นเสียชีวิตจากการทำแท้งในคลินิกท้ายซอยในกรุงเทพฯ จึงได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สมัครนั้นทำสารคดีเกี่ยวกับการทำแท้งผิดกฎหมาย และได้โปรโมทสารคดีในอินเทอร์เน็ต โดยได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เกรย์สันจึงส่งอีเมล์หาผู้สมัครเพื่อขอชมภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ เกรย์สันก็ได้รับการตอบกลับ โดยผู้สมัครได้ส่งลิงก์ในยูทูป ซึ่งถูกโพสต์ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน และโพสต์โดยผู้อื่นมาให้ ก่อนที่เกรย์สันจะพบว่า สารคดีชิ้นดังกล่าว ซึ่งมีความยาว 3 นาทีนั้นเป็นเพียงการเรียงภาพนิ่งต่อกัน และมีเสียงบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งที่สุดแสนจะน่าเบื่อ ที่ดูเหมือนว่าเป็นการทำขึ้นมาอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้แล้ว รายงานชิ้นดังกล่าวที่อ้างโดยเกรย์สันยังระบุอีกว่า เคยเจอผู้สมัครที่ระบุว่า เคยทำโครงการนอกหลักสูตรที่ยิ่งใหญ่ ทว่าไม่เป็นเรื่องจริง อย่างเช่น ผู้สมัครที่บอกว่า เคยประดิษฐ์เครื่องตรวจจับความเคลื่อนไหวของช้างที่ช่วยป้องกันไม่ให้ช้างเข้ามาทำลายพื้นที่การเกษตรในชนบทของไทย

พร้อมกันนี้ รายงานชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตวิทยาลัยนั้นพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น มีการยื่นใบสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อที่เป็นปัญหาในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้สมัครในประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ครอบครัวของพวกชนชั้นสูง และชนชั้นกลางต้องการที่จะยืนยันความสำเร็จของลูกหลานด้วยการได้รับปริญญาจากสถานศึกษาในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน สื่อชื่อดังยังรายงานต่อไปว่า ผู้เข้าสมัครนั้นอาศัยการช่วยเหลือจากที่ปรึกษา และฟิกเซอร์ชั้นครูที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้สมัครสามารถผ่านการรับนักศึกษาของวิทยาลัยในสหรัฐที่ซับซ้อนแล้ว ยังช่วยแต่งแต้มใบสมัครของผู้สมัครให้ดีกว่าความเป็นจริงอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยังมีในกรณีที่รุนแรงยิ่งกว่านั้น ที่ผู้สมัครและผู้ปกครองหันไปหาที่ปรึกษาการเข้าเรียนที่ไร้จรรยาบรรณและหัวหมอ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญในการช่วยให้ผู้สมัครเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาในสหรัฐ ด้วยคิดค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ซึ่งที่ปรึกษานั้นยินดีที่เขียนเรียงความ และหนังสือรับรองให้ รวมไปถึงแต่งภูมิหลังของผู้สมัคร และให้คำแนะนำกับผู้สมัครระหว่างการสัมภาษณ์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องโกหก

"ดูเหมือนว่าการได้รับการช่วยเหลือที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการโกง เท่ากับการถูกมองว่าเป็นหนทางในการทำธุรกิจ" เธอร์เรส โอเวอร์ตัน รองผู้อำนวยการฝ่ายสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเวสลีแยน ในสหรัฐ กล่าว

"ในขณะที่ มีผู้สมัครจำนวนมากขึ้นถูกแจ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของใบสมัคร ยิ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ปัญหานี้กำลังย่ำแย่มากยิ่งขึ้น"  โอเวอร์ตัน  ระบุ