posttoday

"ความรุนแรง"จุดจบแผนปรองดอง

09 พฤษภาคม 2553

หลายครั้งหลายครา ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญอีกไม่น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่พยายามยื่นความปรองดองให้เองนั้น กลับตกเป็นเหยื่อเสียเอง

หลายครั้งหลายครา ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญอีกไม่น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่พยายามยื่นความปรองดองให้เองนั้น กลับตกเป็นเหยื่อเสียเอง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ความหวังที่อยากจะเห็นคนไทยกลับมาสามัคคี สมานฉันท์ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวพลันลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่านายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเสนอแผนปรองดองแห่งชาติ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ย. ไปกว่าสัปดาห์แล้วก็ตาม

แต่ไม่ทันไรก็เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นเมื่อช่วงดึกของคืนวันศุกร์ที่ 7 พ.ค. คนร้ายไม่ทราบฝ่าย กราดยิงอาวุธปืนเข้าใส่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่บริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย และมีผู้บาดเจ็บหลายราย

เป็น “ความรุนแรง” ที่ถือเป็น “ข้อเท็จจริง” ของเหตุการณ์ที่กำลังจะทำให้ความหวังว่าประเทศไทยจะได้กลับมาเป็นปกติสุขกำลังรางเลือนทุกที

เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าผู้ก่อการจะเป็นใคร หรืออยู่ฝ่ายไหน สิ่งที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ หรือไม่ต้องการ “ปรองดอง” ไม่ว่าจะเนื่องด้วย|เหตุผลใดก็ตาม

"ความรุนแรง"จุดจบแผนปรองดอง

จะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังจากความพยายามในการผ่าทางตันของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้นก็มีให้เห็นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองโลก จะพบเรื่องราวในลักษณะเข้าข่ายอยู่ไม่น้อย

จะเห็นว่าในด้านหนึ่งความพยายามในการประนีประนอมความขัดแย้ง หรือความพยายามที่จะทำให้สองฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กันหันหน้าเข้าหากันนั้น บ่อยครั้งจะทำให้เกิดความไม่พอใจของคนบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์

...และสุดท้ายมักจะจบลงด้วยความรุนแรงเสมอ

...และที่สำคัญ หลายครั้งหลายครา ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญอีกไม่น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่พยายามยื่นความปรองดองให้เองนั้น กลับตกเป็นเหยื่อเสียเอง

เหตุการณ์ความสูญเสียครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์ และยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ ครั้งโด่งดัง และสะเทือนขวัญชาวโลกมากที่สุด หนีไม่พ้นกับเหตุการณ์การลอบสังหาร มหาตมะ คานธี ผู้นำคนสำคัญของอินเดีย ผู้ซึ่งปลดแอกอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ

มหาตมะ คานธี คือต้นแบบการเรียกร้องอย่าง “อหิงสา” ที่ถูกม็อบในประเทศไทยยืมมาใช้มากที่สุด กล่าวได้ว่าเป็น|บุคคลที่มีความสำคัญต่อการเมืองอินเดียมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับชาวอินเดียที่ได้รับผลกระทบจากการกดขี่ข่มเหง และการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลอังกฤษ

หลักการต่อสู้เรียกร้องแบบสันติวิธีของคานธีได้เรียกร้องให้ชาวอินเดียจำนวนมากลุกขึ้นร่วมการชุมนุม และยิ่งนานวันอิทธิพลของคานธีที่มีต่อชาวอินเดียก็ยิ่งเริ่มเพิ่มพูนขึ้น

คานธีถึงแม้จะถูกรัฐบาล (อังกฤษ) จับกุมและปล่อยตัวอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นในการต่อสู้เรียกร้องของเขาลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

นอกเหนือจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเพื่อชาวอินเดียแล้ว มหาตมะ คานธี ยังเป็นบุคคลผู้ซึ่งลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูเศรษฐกิจในชนบท การแก้ไขปัญหาชนชั้นวรรณะในอินเดีย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามและศาสนาฮินดู รวมทั้งปัญหาความไม่เสมอภาคของสตรี

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด คุณูปการทั้งหลายที่คานธีได้สร้างไว้ให้แก่ชาวอินเดียก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีชีวิตที่สงบสุขในบั้นปลาย มิหนำซ้ำกลับทำให้เขาต้องถูกลอบสังหาร โดยนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2491

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์การลอบสังหารดังกล่าวเป็นผลลัพธ์จากบทบาทความพยายามของเขาเองที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูกับศาสนาอิสลามที่เป็นปัญหาเรื้อรังในอินเดียมายาวนานหลายสิบปี

ย้อนรอยกลับไปภายหลังจากที่อังกฤษประกาศให้เอกราชกับอินเดีย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะแบ่งอินเดียออกเป็นสองประเทศ คือให้ชาวมุสลิมย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน

ส่วนชาวฮินดูให้อยู่ในประเทศอินเดียในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองเชื้อชาติ

แต่แม้ว่าจะได้แบ่งออกเป็นสองประเทศแล้ว ก็ยังมีประชาชนชาวมุสลิมบางส่วนที่ยังไม่ได้อพยพไปยังปากีสถาน และยังมี|ชาวฮินดูบางส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางไปอินเดีย

ผลจากการแบ่งประเทศที่ยังไม่เสร็จสิ้นดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดการสู้รบระหว่างคนสองศาสนากระจายไปทั่วทุกพื้นที่

คานธี ซึ่งต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้กับอินเดียมาโดยตลอด จึงได้ออกมาอดอาหารประท้วงเพิ่มความกดดันให้การสู้รบกันดังกล่าวยุติลง แต่ก็ช่วยได้แค่เพียงชั่วครูชั่วยามเท่านั้น

นอกจากนี้ ในระหว่างที่แบ่งอินเดียเป็นสองประเทศนี้เอง ได้มีการเสนอให้แบ่งสรรเงินคงคลังของอินเดียให้กับปากีสถานส่วนหนึ่งตามสัดส่วนจำนวนประชากรชาวมุสลิมที่ย้ายไปยังปากีสถาน

คานธี ซึ่งตั้งใจจะสร้างให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยและสนับสนุนหลักการดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็น|ข้อเสนอที่ถูกต้องตามหลักเหตุผล

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของคานธีที่ให้การสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวนั้นกลับสร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮินดูที่ไม่ต้องการจะแบ่งงบประมาณไปให้ปากีสถาน

ความไม่พอใจของชาวฮินดูในตัวคานธียิ่งทวีความรุนแรง|มากขึ้น เมื่อคานธีต้องการที่จะเดินทางไปยังประเทศปากีสถาน เพื่อสานนโยบายสมานฉันท์กับชาวมุสลิม

คานธีให้เหตุผลในการจะเดินทางไปยังปากีสถานว่า “ตนคิดถึง และต้องการที่จะไปพบชาวมุสลิมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นญาติพี่น้องกับชาวฮินดู”

และเหตุการณ์นั้นเองที่ทำให้ชาวฮินดูส่วนใหญ่เห็นว่าคานธีซึ่งเป็นชาวฮินดูกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ทนต่อคานธีอีกต่อไป
ในที่สุด เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2491 ระหว่างที่คานธีกำลังเดิน ผ่านสวนแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีเพื่อไปสวดมนต์ในช่วงเย็น นายนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูหัวรุนแรงได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปที่หน้าอกของคานธี 3 นัด คานธีล้มลงและเสียชีวิตทันที

เป็นจุดจบของความพยายามปรองดองอันยาวนาน ที่ถูกทำลายด้วยกระสุนปืนเพียง 3 นัด

นอกเหนือจากกรณีของคานธี การลอบสังหาร อันวาร์ ซาดัต ประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังจากความพยายามที่จะหลุดพ้นจากวังวนแห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ อันเป็นความพยายามสำคัญที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีที่มาจากการอ้างสิทธิพิพาทเหนือดินแดนเยรูซาเลมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในที่สุดแล้ว ชาวยิวได้ประกาศตั้งประเทศอิสราเอล ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งมีเชื้อสายอาหรับต้องออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับโลกอาหรับเป็นอย่างที่สุด และนำไปสู่การรวมตัวกันของบรรดาชาติอาหรับในการให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ และทำสงครามกับอิสราเอล

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการทำสงครามกันหลายต่อหลายครั้ง การเผชิญหน้ากันระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอลทำให้ดีกรีความตึงเครียดในตะวันออกกลางเพิ่มพูนขึ้นทุกเสี้ยววินาที

อย่างไรก็ตาม เมื่ออียิปต์ซึ่งเป็นประเทศที่มีกองกำลังทางทหารที่แข็งแกร่ง และเป็นหัวหอกสำคัญของโลกอาหรับมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำจากนายกามาล อับเดล นัสเซอร์ เป็นนายอันวาร์ ซาดัต การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จึงเกิดขึ้น

เมื่อเดือน ก.ย. 2521 ประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์ กับประธานาธิบดี เมนาเฮม เบกิน แห่งอิสราเอล ได้ตัดสินใจลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างทั้งสองประเทศที่มีชื่อว่า “ข้อตกลงแคมป์เดวิด” ซึ่งเกิดขึ้นที่แคมป์เดวิด ในสหรัฐ ซึ่งมีสหรัฐเป็นคนกลาง
ข้อตกลงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่จะยุติสงคราม และความขัดแย้งต่างๆ ของทั้งสองประเทศที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี

ในสายตาของเวทีการเมืองระหว่างประเทศ การลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าเชิดชูแห่งศตวรรษ ประธานาธิบดีทั้งสองคนยังได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปีนั้นด้วย

แต่สำหรับสายตาของชาวอียิปต์และโลกอาหรับแล้วกลับเป็นละครคนละเรื่อง

เนื่องจากบรรดาประเทศในโลกอาหรับต่างเห็นว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกอาหรับเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันให้อิสราเอลยินยอมจัดการเรื่องตั้งถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ให้สำเร็จลงได้

ไม่ใช่ “แผนปรองดอง” อะไรนั่น...!

พร้อมกันนั้นยังมองว่าการลงนามในข้อตกลงแคมป์เดวิดของประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต กับฝ่ายอิสราเอล เป็นการแสดงให้เห็นว่าโลกอาหรับไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันอีกต่อไป

ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโลกอาหรับกำลังถูกอียิปต์ทรยศหักหลัง

ความไม่พอใจของชาวอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมุสลิมคลั่งศาสนาที่สั่งสมมานานจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ประกอบกับคำสั่งลงโทษกลุ่มมุสลิมอย่างรุนแรงของอันวาร์ ซาดัต ในที่สุดแล้วทำให้ตัวเขาถูกลอบสังหารระหว่างเข้าร่วมงานพาเหรดของกองทัพเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2524 โดยกลุ่มผู้ก่อการนั่งมาในรถที่ร่วมในขบวนพาเหรด ซึ่งเมื่อแล่นผ่าน กลุ่มผู้ก่อการได้ระดมยิงและปาระเบิดเข้าใส่ปะรำพิธี ทำให้ประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อีก 20 คน เสียชีวิตในทันที

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ที่ลอบสังหารก็เปิดเผยเหตุผลว่า เพราะไม่พอใจข้อตกลงสันติภาพที่ซาดัตลงนามกับอิสราเอล

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกันกับกรณีของอันวาร์ ซาดัต ซึ่งเป็นผลพวงของวิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์เช่นเดียวกันนั่นก็คือ การถูกลอบสังหารของ พล.อ.ยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ในวันที่ 4 พ.ย. 2538 ภายหลังจากความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์กับปาเลสไตน์ขึ้น

หลังจากที่ทั้งฝ่ายอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ปฏิบัติการความรุนแรงทั้งในที่โล่งและในทางลับมาได้สักระยะหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างเริ่มที่จะเห็นว่าการใช้กำลังไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

พล.อ.ยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ในขณะนั้น พร้อมด้วย นายยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) จึงได้หันหน้าเข้าหากัน และใช้วิธีการเจรจาผ่านเวทีของสหประชาชาติ ซึ่งในที่สุดจึงนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2537

สาระสำคัญของข้อตกลงสันติภาพที่กรุงออสโล ได้แก่ การประกาศว่า โลกยอมรับให้มีดินแดนปกครองตนเองที่ชื่อว่าปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา

ผลของข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวทำให้นายอาราฟัต พล.อ.ราบิน และนายชิมอน เปเรส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลในสมัยนั้นได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2538

อย่างไรก็ตาม ท่าทีประนีประนอมของนายกรัฐมนตรีราบินก็ทำให้กลุ่มชาวยิวหัวรุนแรงในอิสราเอลไม่พอใจ และทำให้เขาถูกลอบสังหารในวันที่ 4 พ.ย. 2538

พล.อ.ยิตซัก ราบิน ถูกลอบยิงด้วยอาวุธปืนจำนวน 3 นัด ระหว่างกำลังเดินลงมาจากศาลาว่าการกรุงเทลอาวีฟ เพื่อไปเปิดประตูรถยนต์ โดยมือสังหารในครั้งนั้นคือ ยิกาล อามีร์ หนึ่งในขบวนการไซออนนิสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวยิวหัวรุนแรง

อามีร์ เปิดเผยเหตุผลที่ลอบสังหาร พล.อ.ราบิน ว่าเป็นเพราะเขาต่อต้านการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์

เขาเห็นว่า การยอมถอนออกจากเขตเวสต์แบงก์ของอิสราเอลเปรียบเสมือนการปฏิเสธมรดกตกทอดจากพระคัมภีร์ไบเบิลของชาวยิว

สุดท้าย นับตั้งแต่ พล.อ.ยิตซัก ราบิน ถูกลอบสังหาร จนถึงปัจุจุบัน อิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ยังไม่เคยบรรลุในข้อตกลงสันติภาพใดๆ...