posttoday

"เมียนมาร์" "เบอร์มา" ชื่อนั้นสำคัญไฉน

21 มกราคม 2557

ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวความเคลื่อนไหวออกมาว่า สหรัฐตัดสินใจเรียกประเทศพม่าด้วยชื่อทางการว่า เมียนมาร์ (Myanmar) แทนชื่อเดิม เบอร์มา (Burma) ด้วยเหตุผล 'ด้านมารยาททางการทูต'

ก้องภพ เทอดสุวรรณ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวความเคลื่อนไหวออกมาว่า สหรัฐตัดสินใจเรียกประเทศพม่าด้วยชื่อทางการว่า เมียนมาร์ (Myanmar) แทนชื่อเดิม เบอร์มา (Burma)  ด้วยเหตุผล 'ด้านมารยาททางการทูต'

ปัจจุบันพม่าชื่อเมียนมาร์มาโดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Republic of the Union of Myanmar) โดยรัฐบาลทหารพม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศตั้งแต่ปี 1989 คำว่าเมียนมาร์มาจากภาษาพม่าแปลว่า "เข็มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว" โดยเป็นการประสมคำระหว่าง 'เมียน' (Myan) ที่แปลว่า 'รวดเร็ว' กับ 'มา' (Ma) ที่แปลว่า 'เข็มแข็ง'

รัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น ให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อว่า ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของประเทศ เนื่องจาก 'เบอร์มา' หมายถึงชนชาติเดียวคือชนชาติพม่า (Bamar) ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศเพียงกลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงในพม่ามีชนกลุ่มน้อยอีกหลายชาติพันธุ์(ไทยใหญ่, มอญ, ชิน, ฯลฯ) อาศัยรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ เบอร์มา ยังเป็นสัญญาลักษณ์ของการเป็นอดีตประเทศอาณานิคม เนื่องจากเป็นชื่อที่อดีตเจ้าอาณานิคมใช้เรียกประเทศแห่งนี้

ไม่เพียงแต่ชื่อประเทศเท่า แม้แต่เมืองสำคัญหลายแห่ง อาทิ อดีตเมืองหลวง กรุงร่างกุ้ง (Rangoon) ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อโดยรัฐบาลทหารเป็น ยางโกง (Yangon) เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลทหารพม่าประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงรัฐบาลของเหล่าประเทศตะวันตกกลับไม่ให้ยอมรับการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว นัยว่าไม่ให้การยอมรับรัฐบาลมหารพม่า และเรียกประเทศนี้ว่าเบอร์มาเช่นเดิม

กรณีที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือแม้แต่ ออง ซาน ซูจีผู้นำฝ่ายค้านพม่า ปฏิเสธที่เรียกพม่าด้วยชื่อใหม่เช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลทหารเปลี่ยนชื่อโดยไม่สอบถามความเห็นของประชาชนก่อน

ความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้แม้แต่ ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐต้องใช้คำเมียนมาร์เมื่อพบปะกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และใช้คำว่าเบอร์มาในการพบปะกับ ออง ซาน ซูจี

การยอมรับชื่อ "เมียนมาร์" จึงนับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเลยทีเดียว โดยมีนัยว่าสหรัฐให้การยอมรับรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ในระดับทางการได้เปลี่ยนได้ให้การยอมรับชื่อเมียนมาร์เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับคนไทยโดยทั่วไปยังติดปากเรียกประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ว่าพม่าอยู่เช่นเดิม เช่นเดียวกับชาวพม่าก็ยังคงคุ้นชินกับการเรียกประเทศไทยว่า 'โยเดีย' หรือ 'อยุธยา' ไม่ยอมเปลี่ยนมาเรียกประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์