posttoday

"กษิต"แจงต่างชาติไทยกำลังจัดระเบียบประเทศ

24 ธันวาคม 2556

"กษิต ภิรมย์" เขียนบทความชี้แจงต่างชาติอธิบายสถานการณ์การเมืองไทยว่าเป็นความพยายามในการปฎิรูปจัดระเบียบประเทศตามแนวทางของไทยเอง

"กษิต ภิรมย์" เขียนบทความชี้แจงต่างชาติอธิบายสถานการณ์การเมืองไทยว่าเป็นความพยายามในการปฎิรูปจัดระเบียบประเทศตามแนวทางของไทยเอง

เว็บไซต์สำนักข่าวอัลจาซีราได้เผยแพร่บทความของกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ชี้แจงว่าการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในขณะนี้คือความพยายามในการจัดระเบียบประเทศตามแนวทางของคนไทยเอง

ทั้งนี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าสับสนงุนงงสำหรับชุมชนนานาชาติเมื่อประเทศไทยได้ประสบกับความแตกแยกทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีทั้งการรัฐประหาร และการประท้วงตามท้องถนนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่สามารถหาเสถียรภาพทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตยที่ไทยเริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ได้เลย

แม้ก่อนหน้านี้ ความตึงเตรียดจากสงครามเย็นทำให้ประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยเป็นความสำคัญลำดับแรกสุดของชาติ จนผลักดันให้เกิดพันธมิตรทางทหารระหว่างกองทัพของโลกฝั่งตะวันตกกับรัฐบาลทหารไทย กระนั้น เจตนารมณ์ของคนไทยก็ไม่เคยห่างหายไปจากระบอบประชาธิปไตยเลย

โดยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ดูจะเป็นช่วงที่ความหวังเรื่องประชาธิปไตยของคนไทยใกล้ความจริงมากที่สุด มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 ฉบับที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีการก่อตั้งองค์การอิสระต่างๆ เช่น องต์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น คณะกรรมาธิการเลือกตั้ง หน่วยงานตรวจสอบ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน  ควบคู่ไปกับการบริหารปกครองที่แข็งแกร่งเพื่อรับรองเสถียรภาพของระบบรัฐสภา

ทว่า  ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจผู้มั่งคั่งก็ปรากฎตัวเข้ามาในเวทีการเมืองพร้อมกับการใช้อำนาจในทางที่ผิด นำธุรกิจมาปะปนกับการเมือง เกิด "ธนกิจการเมือง" (Money Politics - วิธีการที่นักการเมืองใช้เงินผันตัวเองเป็น 1 ในคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้อภิสิทธิ์จากตำแหน่งดำเนินการและกำหนดนโยบายเอื้อให้ตนเอง) ในวงกว้าง และมีการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างชัดเจน ขณะที่การใช้นโยบายประชานิยมต่างๆ เป็นไปเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเท่านั้น

การชุมนุมที่ปะทุขึ้นในปี 2549 ตามท้องถนนมีขึ้นครั้งนั้นเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และประท้วงการขาดหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ โดยชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในครั้งนั้นมาจากการขายกิจการบริษัทของครอบครัวชินวัตรที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกปฎิบัติเป็นพิเศษเพราะตำแหน่งทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร 

และเพื่อตอบโต้การประท้วง ทักษิณได้จัดตั้งกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรับมือกับการชุมนุม แต่แล้วทหารก็เข้ามาแทรกแซงในเดือนก.ย. ปี 2549 พร้อมเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการรับรองจากประชาชนผ่านการทำประชามติ ขณะที่ตัวทักษิณเองโดนศาลตัดสินให้มีความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นและต้องโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งทำให้ทักษิณหลบออกนอกประเทศ และทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ระหว่างการหนีคดีในต่างประเทศ

ทั้งนี้ การเลือกตั้งหลังการรัฐประหารเกิดขึ้นในปี 2551 พรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลตัวแทนของทักษิณก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เนื่องจากยังต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงของประชาชน ซึ่งกระแสความเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลตัวแทนทักษิณ ได้เปลี่ยนพรรคการเมืองที่เคยเข้าร่วมกับรัฐบาลให้หันมาร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน

หลังจากนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลุ่มเสื้อแดงก็ดำเนินการชุมนุมประท้วงตามท้องถนน และยังใช้มาตรการรุนแรงในการดำเนินการประท้วงระหว่างปี 2552 -2553 ซึ่งการกระทำดังกล่าวของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ใส่ใจกับกระบวนมากกว่าเนื้อหาสาระ ส่งผลให้การทำงานของกลไกรัฐสภาหยุดชะงัก และติดขัด

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ในขณะนั้น พยายามที่จะเจรจาและหาทางประนีประนอม ทว่า ในที่สุดแล้วรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ต้องประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนก.ค. ปี 2554 และพ่ายแพ้ให้กับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวร่วมสายเลือดของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเพียงผู้นำหุ่นเชิดของพี่ชาย และเป็นรัฐบาลที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการแสวงหาหนทางและวิธีการที่จะนำทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศไทยอย่างผู้ที่ปราศจากความผิดใดๆ

ในช่วงเดียวกันนี้ บรรดาสารพัดนโยบายประชานิยมที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ให้คำมั่นไว้ในระหว่างการหาเสียงไว้ทั้งหมดได้เผชิญกับความล้มเหลวอย่างน่าอาดูร แถมยังขาดทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการเสียงข้างมากได้ทำหน้าที่ในสภา และทำให้สภาเป็นเพียงสถานที่ลงคะแนนเสียงเพื่อให้โครงการต่างๆ ของทักษิณผ่านลุล่วงไปได้

การกระทำดังกล่าว ผลักดันให้มหาชนคนไทยหลายล้านคนลุกขึ้นออกมาประท้วงตามท้องถนนเพื่อแสดงความรังเกียจต่อการใช้อำนาจทางการเมืองในทางที่มิชอบ รวมถึงไม่พอใจการบริหารปกครองโดยครอบครัวเพียงครอบครัวเดียว กดดันให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ยุบสภาและประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนก.พ. ปี 2557

อย่างไรก็ตาม แม้จะยุบสภาในที่สุด แต่ในทัศนะของกษิต ภิรมย์ กลับเห็นสอดคล้องกับทางกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในขณะนี้ที่ต้องการให้มีการปฎิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยกษิตระบุชัดว่า การเลือกตั้งสมควรเลื่อนออกไปจนกว่าการปฎิรูปรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นและได้รับการลงประชามติจากประชาชนอย่างสมบูรณ์แล้ว

โดยรัฐธรรมนูญควรได้รับการทบทวนเพื่อให้สามารถสะท้อนบทเรียนได้รับจากการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จการเมืองด้วยอำนาจเงินของทักษิณ เพื่อให้สามารถบังคับใช้หลักนิติธรรม และเพื่อให้การตรวจสอบเที่ยงธรรมมีระบบระเบียบ ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยให้ห่างไกลจากการทุจริตตอร์รัปชั่นและระบอบเผด็จการ

ทั้งนี้ กษิต ภิรมย์ยังได้ตั้งคำถามกับนานาประเทศว่า ขณะที่รัฐบาลชาติตะวันตกเรียกร้องให้คนไทยก้มหัวให้กับรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชาติตะวันตกดูเหมือนจะเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งสามารถแก้ไยปัญหาประชาธิปไตยของประเทศไทย ชาติตะวันตกได้เรียนรู้หรือไม่ว่า ลำพังแค่การเลือกตั้งอย่างเดียวก็ไม่ได้รับรองว่ากระบวนการดังกล่าวคือประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หรือความเชื่อข้างต้นเป็นเพราะความคิดที่ไร้เดียงสาและตื่นเขิน หรือเป็นผลจากการเชื่อว่าทักษิณชายผู้ยึดมั่นในระบบทุนนิยม ว่ามาจากระบอบประชาธิปไตยอย่าแท้จริง

ความปรารถนาของคนไทยทุกชีวิตก็คือการกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นและเผด็จการ คนไทยต้องการการปฎิรูปในทุกแง่มุมที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อป้องกัน "ธนกิจการเมือง" เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ที่คนหนึ่งคนมีส่วนร่วม มีอำนาจ ไม่ใช่การควบคุมเบ็ดเสร็จ คนไทยต้องการใช้ชีวิตภายใต้การบริหารปกครองประเทศที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้

คนไทยไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้นักปกครองเช่นมูบารัก หรือ มาร์กอส และยิ่งไม่ต้องการเป็นเสมือนทาสรับใช้ที่ต้องก้มหน้าอยู่ภายใต้การปกครองของระบบตระกูลศักดินา

กษิต ภิรมย์อธิบายต่อว่าประเทศไทยในขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่อีกขั้นของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ต้องการเคลื่อนไปข้างหน้า และขจัดทุกอุปสรรคที่ขัดขวางการเกิดขึ้นของธรรมาภิบาล

"เราต้องการเชื่อมั่นในผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องการให้เขารับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้เงินทุนหรืออำนาจ" กษิตระบุในบทความ

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลชาติตะวันตกดูจะเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงคือพลังประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยทุกวันนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายในกลุ่มเสื้อแดงก็มีมุมมองที่แตกต่างกันมากมาย

บางคนต้องการเป็นสาธารณรัฐและยุติระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข บางกลุ่มต้องการเป็นสาธารณรัฐแบบสังคมนิยม อีกส่วนหนึ่งต้องการระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ส่วนกลุ่มขวาจัดของมวลชนเสื้อแดงก็ต้องการการปกครองแบบคนเดียว พรรคเดียว  ขณะที่บางส่วนเข้าร่วมเพราะอามิสสินจ้างโดยปราศจากแนวคิดอุดมคิตการเมืองใดๆ  บางส่วนถูกล่อลวงด้วยความเกลียดชังและคำโฆษณาชวนเชื่อ และมีบางส่วนที่เชื่อมั่นในความยุติธรรมและความเท่าเทียมของประชาธิปไตย

ดังนั้น ความหลากหลายของกลุ่มเสื้อแดงทำให้ในการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จึงมีคนเสื้อแดงหลายคนที่แสวงหาความยุติธรรมและประชาธิปไตยมาเข้าร่วมกานชุมนุมโดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

กษิตระบุว่าขณะนี้มีการต่อสู้และแตกแยกภายในแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง ทักษิณและยิ่งลักษณ์ไม่สามารถโน้มน้าวจูงใจมวลชนส่วนใหญ่ของเสื้อแดงได้อีกต่อไป และต้องหันมาพึ่งพากำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้น โดยในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีบางส่วนที่หันมาต่อต้านระบอบทักษิณแล้ว

ทั้งนี้ ข้อเสนอกระบวนการปฎิรูปครั้งนี้จะรวมทุกความเห็นของทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นจึงเป็นการปฎิรูปที่เปิดกว้างอย่างแท้จริง รวมถึงเคารพในแนวคิดและการมีส่วนร่วมของประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดง

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสรุปปิดท้ายว่า รัฐบาลที่กอปรด้วยเหตุผลจะไม่เดินหน้าจัดการเลือกตั้งเมื่อบ้านเมืองอยู่ในสภาพวุ่นวาย และประชาชนไม่ยินยอม

"ดังนั้น ปล่อยให้เราได้เดินหน้าดำเนินการปฎิรูปเสียก่อน"