posttoday

แร้งในม่านหมอก

08 ธันวาคม 2556

แม้ที่ Annapurna ประเทศเนปาล จะมีแร้งอาศัยอยู่หลายชนิด แต่ตัวหลักที่มีชุกชุมที่สุด ก็คือแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย

แม้ที่ Annapurna ประเทศเนปาล จะมีแร้งอาศัยอยู่หลายชนิด แต่ตัวหลักที่มีชุกชุมที่สุด ก็คือแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Himalayan Griffon)

วันแรกที่เห็นตัวพวกมันเล่นเอาตาเหลือก แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยร่อนเข้ามายังจุดถ่ายรูปให้ดูแบบเผาขน โชว์เรือนร่างใหญ่โตบึกบึนเหนือกว่าแร้งอื่นๆ ทั่วไป จนเห็นมิติความเป็นแร้งอย่างชัดแจ้ง

เมื่อมองสบตาอีแร้ง ความคิดคำนึงอันหนึ่งแวบขึ้นมาในหัว บางทีแร้งพวกนี้ยามมองมาที่ผมและมวลประชาชน 67 คนตรงนั้น อาจกำลังคิดอยู่ว่า “ตายเมื่อไร กูจะมาเขมือบ!” 555

เรื่องนี้มิได้เกินเลย คุณอาจเคยได้ยินพิธีกรรมของชาวทิเบต ที่ส่งวิญญาณคนตายด้วยการหั่นศพให้แร้งกิน แร้งตัวนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยนี่แหละ

พวกมันที่มาปรากฏตัวยัง Annapurna ก็มีการบินในลักษณะอพยพในแนวขวางจากตะวันออกมาตะวันตก หรือจากแถวทิเบต ข้ามเทือกหิมาลัย ทะลุลงสู่อินเดีย

อาจมีบางตัวคุ้นเคยกับการกินศพมนุษย์มาแล้ว อิอิ

สำหรับเมืองไทยที่เป็นแดนอัตคัดแร้ง จนพวกมันกลายเป็นนกในฝันของบรรดานักดูนกไปซะทุกชนิดนั้น แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยถือเป็นตัวที่พบง่ายที่สุดแล้ว (แต่ก็โหดหินสุดๆ)

ผมเองโชคดีถูกหวยในรูปของแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมาแล้วหนหนึ่ง มาร่อนบินในพื้นที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวหลายปีมาแล้ว

จากวันแรกที่เห็นแร้งเนปาลใกล้ๆ อารมณ์ตื่นเต้นตื่นตูมค่อยๆ คลายลงตามวันที่ผ่านไป เนื่องจากเจอเจ้านี่ตัวแล้วตัวเล่าทุกวัน อย่างไรก็ดี ที่เห็นแล้วประทับใจที่สุดก็คือตัวในภาพนี่แหละ

ตอนนั้น 4 โมงเย็นกว่าแล้ว จู่ๆ เมฆหมอกคลุ้มมัวก็เข้าปกคลุม Annapurna จนทัศนวิสัยเลวร้ายสุดขีด กำลังจะเก็บกล้องรอมร่อ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตัวหนึ่งก็โผล่มาเงียบๆ แลดูเป็นเงาขนาดยักษ์เลือนลางในม่านหมอก ร่อนวนไปวนมาใกล้ๆ ขอบผาที่ยืนอยู่

ช่างเป็นภาพชีวิตสัตว์โลกที่สวยงามประทับใจ ให้คะแนนชนะเลิศไปเลย