posttoday

ฟอร์บส์ ยกการเมืองไทยสุดยอดความวุ่นวาย

06 พฤศจิกายน 2556

เว็บไซต์ ฟอร์บส์ นิตยสารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐวิวิจารณ์การเมืองไทยสุดยอดความวุ่นวายยิ่งกว่าการเมืองมะกัน

เว็บไซต์ ฟอร์บส์ นิตยสารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐวิวิจารณ์การเมืองไทยสุดยอดความวุ่นวายยิ่งกว่าการเมืองมะกัน

ไซมอน มอนท์เลค ผู้สื่อข่าวของนิตยสารฟอร์บส์เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยเปรียบเทียบกับการเมืองของสหรัฐที่เพิ่งจะแสดงให้เห็นความขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การปิดหน่วยงานรัฐเป็นเวลา 16 วันเมื่อต้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา โดยมอนท์เลคระบุว่า ภาวะขัดแย้งวุ่นวายของการเมืองไทยในขณะนี้ยิ่งกว่าปัญหาทางการเมืองของสหรัฐ

บทความของมอนท์เลคยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยทุกวันนี้ ไม่ได้ทำให้คนทุกคนเท่าเทียมกัน โดยตัวการร้ายที่ต้องระวังก็คือรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายในกระบวนการประชาธิปไตยเอง สำหรับการปกครองประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ ระบบประธานาธิบดีมีข้อจำกัดที่อำนาจในการปกครองประเทศอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงหยิบมือ ประเทศจึงเสมือนโดนจับเป็นตัวประกัน และทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าระบบประชาธิปไตยของสหรัฐกำลังแสดงจุดอ่อนที่นำไปสู่ความแตกแยกภายในคณะผู้บริหารปกครองประเทศ โดยอาศัยคำว่า "ประชาธิปไตย" มุ่งตรวจสอบจับผิดการทำงานของกันและกัน จนการบริหารปกครองประเทศหยุดชะงัก ไปข้างหน้าไม่ได้


ขณะที่ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มอนท์เลคกล่าวว่า การปกครองลักษณะนี้ก็นำไปสู่ความเสี่ยงของการทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งเดียวที่จะทดสอบพิสูจน์ความชอบธรรมในการปกครองประเทศตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถาบันประชาธิปไตยของประเทศอยู่ในสภาวะอ่อนแอ เหมือนเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ที่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงตามท้องถนนกลายเป็นภาพเจนตาอีกครั้ง หลังจากมีการประท้วงครั้งใหญ่มาแล้วหลายระลอก ทั้งการประท้วงครั้งหลังสุดซึ่งเกิดขึ้นในปี 2553 ที่จบลงด้วยการนองเลือดจากความพยายามสลายการชุมนุมของทหาร ขณะที่ 2 ปีก่อนหน้านั้น มีการเดินขบวนบุกยึดสนามบินนานาชาติของไทยเพื่อคัดค้านชัยชนะจากการเลือกตั้งของรัฐบาลสมัยนั้น


มอนท์เลคระบุว่า การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากคามไม่พอใจที่รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงล้นหลามในปี 2554 พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการซักฟอกลบล้างความผิดที่หลายต่อหลายคนทำผิดมาในอดีต จุดชนวนให้คนไทยมากกว่า 10,000 คน ออกมารวมตัวตามท้องถนนเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา กลายเป็นแรงกดดันร้อนแรงทางการเมืองต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย แถมยังส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่ทำให้หุ้นไทยร่วงลงเกือบ 3%


พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับล่าสุดที่สภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองนี้ แต่เดิมครอบคลุมเฉพาะการนิรโทษให้กับกลุ่มผู้ประท้วงที่โดนกล่าวหาว่าก่อคดีอาญา ก่อนที่จะมีการขยายในภายหลังให้นิรโทษบรรดานักการเมือและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยความขัดแย้งหลักๆ ก็คือการตีความรายละเอียดของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวว่าจะทำให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำของไทยที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารโค่นลงจากตำแหน่ง ไม่ต้องขึ้นศาลพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่น และใช้อำนาจในทางมิชอบ ตามที่ศาลตัดสินไว้ในปี 2551ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัยสักเท่าไรนัก


ทั้งนี้ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลให้เร่งรัดกดดันให้วุฒิสภาปฏิเสธไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยบรรดาวุฒิสมาชิกจะหารือในเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า และใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 60 วัน ท่ามกลางคำมั่นจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่ให้คำมั่นชัดเจนว่ารัฐบาลจะเคารพและยอมรับการตัดสินใจของวุฒิสภา รวมถึงจะไม่ก้าวก่ายกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย

ผู้สื่อข่าวของฟอร์บส์รายนี้แสดงความเห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดข้างต้นดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่ามีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความจริงที่มีผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ออกมาชุมนุมตามท้องถนน และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์โดนโอบล้อมรอบด้านจากทั้งฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายสนับสนุนที่เปลี่ยนจุดยืนเพราะไม่พอใจต่อพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กำลังแสดงให้เห็นความเปราะบางอย่างมากของระบบรัฐสภาไทย ที่ทางยุติปัญหามีเพียงแค่การเลือกตั้งใหม่

โดยมอนท์เลคได้อ้างอิงรายงานจากหนังสือพิมพ์บางกอก โพสต์ฉบับวันอังคารที่ 5 พ.ย. ระบวุ่า พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์กำลังเตรียมตัวสำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พรรคดังกล่าวรู้สึกถึงภัยคุกคามจากอำนาจตุลาการหรือศาล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลเคยตัดสินยุบพรรคการเมืองไทยมาแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้อำนาจศาลไม่ใช่แค่คำขู่ในความรู้สึกของพรรคการเมืองอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะทำให้เกรงได้ แต่วิธีการยุบพรรคการเมืองกลับไม่ได้ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยแต่อย่างใด โดยไซมอน มอนท์เลค ระบุว่า ไทยต้องพึงตระหนักว่ากระบวนการเลือกตั้งไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์ในปี 2549 ที่มีการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นขายหุ้นของครอบครัวให้กับกองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์ ทักษิณใช้วิธีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่ผลลัพธ์กลับทำให้ไทยเข้าสู่ทางตัน และเปิดทางให้ทหารรัฐประหาร ถือเป็นความอ่อนด้อยของตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และสิ่งเดียวที่เลวร้ายยิ่งกว่าการตรวจสอบตามกระบวนการประชาธิปไตยหลายระลอกแบบที่สหรัฐเป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือการไม่มีการตรวจสอบใดๆ เลย เพราะมัวแต่ตั้งต้นด้วยการเลือกตั้งใหม่