posttoday

สื่อนอกอัดประมงไทยทารุณแรงงานต่างด้าว

07 กันยายน 2556

2สื่อใหญ่มะกันอัดประมงไทยทารุณแรงงานต่างชาติมากที่สุด โดยที่รัฐบาลไทยไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหา

2สื่อใหญ่มะกันอัดประมงไทยทารุณแรงงานต่างชาติมากที่สุด โดยที่รัฐบาลไทยไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหา

เว็บไซต์ข่าว ฟ็อกซ์นิวส์ นำเสนอข่าวว่า “อุตสาหกรรมประมงของไทย คือแหล่งทำร้ายคนงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก” เมื่อวันที่ 3 กันยายน โดยบอกว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและนอร์เวย์ โดยอเมริกา คือประเทศที่นำเข้าสินค้าทะเลของไทยมากที่สุดนั้น กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากทั่วโลกว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการกักขัง ทารุณคนงานเยี่ยงทาส การค้ามนุษย์ โดยบอกว่าสำนักข่าว เอ็นพีอาร์ ได้นำเสนอเหตุการณ์กักขังคนงานกัมพูชาให้ทำงานในเรือประมงไทยนานถึงสามปีเมื่อเดือนมิถุนายน 2012 ก่อนที่ โกลบอล โพสต์ จะนำเสนอบทความชุด Seafood Slavery (ทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล) ในปีเดียวกัน และล่าสุด มูลนิธิ เอ็นไวโรนเมนท์ทัล จัสติส ได้ประกาศว่าประเทศไทยให้ความสนใจในการป้องกันการทำร้ายแรงงานในอุตสาหกรรมประมงน้อยมาก

ข่าวบอกต่อไปว่า อุตสาหกรรมประมงไทย จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจากกัมพูชาและพม่า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่อย่างผิดกฎหมาย โดยอ้างรายงานฉบับล่าสุดขององค์กรชื่อ อินเตอร์เนชั่นแนล เลเบอร์ ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่ามีแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงไทยประมาณ 600 คน ทั้งในเรือที่หาปลาในน่านน้ำของไทยและในน่านน้ำสากล

ข่าวบอกด้วยว่า อุตสาหกรรมประมงไทยที่เติบโตอย่างมากในระยะสิบปีที่ผ่านมา กำลังเผชิญกับปัญหาหนัก ทั้งในเรื่องราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และการจับปลาได้น้อยลง อันเป็นผลมาจากการจับปลามากเกินไป ประกอบกับงานในเรือประมง เป็นงานหนัก จึงหาแรงงานได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาวไทย หรือต่างชาติก็ตาม ข่าวบอกว่าความต้องการแรงงานในเรือประมงไทยปัจจุบันมีมากถึง 50,000 คน ดังนั้นจึงเกิดกรณีที่นายหน้าแรงงานและนายจ้าง หลอกลวงแรงงานในลักษณะต่างๆ ให้มาทำงานในเรือ รวมถึงการไม่จ่ายค่าแรง ข่มขู่ กักขัง และทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น

ฟ็อกซ์นิวส์ บอกด้วยว่า ข่าวที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้รัฐบาลไทยหันมาให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีวงเงินหมุนเวียนปีละกว่า 7 พันล้านดอลลาร์มากขึ้นกว่าเดิม เพราะสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตาว่ามีปัญหาแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ก็ตาม ประเทศไทยก็ไม่ได้กระทำการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าว ได้รับการแก้ไข

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน เอพี ได้รายงานข่าวจากกรุงเทพฯ ถึงปัญหาแรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงของไทยเช่นกัน โดยบอกว่าแรงงานเหล่านี้ถูกหลอกให้มาทำงานในเรือโดยคนในครอบครัว โดยนายหน้าจัดหางาน และว่าเกือบครึ่งของแรงงานในเรือทั้งหมด รับค่าแรงไม่ถึง 160 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือบางคนไม่ได้รับค่าแรงเลย ทั้งที่ต้องทำงานอย่างหนัก

เอพีบอกด้วยว่า นายจ้างสามารถลอยนวลอยู่ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่จะปกป้องแรงงานจากต่างชาติให้รอดพ้นจากการเอารัดเอาเปรียบ และไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่นกฎหมายว่าด้วยการห้ามไม่ให้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานในเรือประมง เป็นต้น

ข่าวอ้างรายงานขององค์กร อินเตอร์เนชั่นแนล เลเบอร์ ที่ทำการศึกษาร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นกันว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่ถูกสัมภาษณ์ เพื่อทำงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ มาจากพม่า และกัมพูชา โดยส่วนหนึ่งถูกลอบนำตัวเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสาร ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่ได้รับการปกป้องโดยกฎหมายของไทย อีกทั้งพบว่าส่วนหนึ่งของแรงงานต่างด้าวเหล่านั้น มีอายุไม่ถึง 15 ปีด้วย

แม้แรงงานส่วนใหญ่จะบอกว่าสมัครใจมาทำงานในเรือประมงเอง แต่ก็บอกว่าไม่ทราบมาก่อนว่าสภาพการทำงานจะเลวร้าย และได้รับค่าแรงน้อยเช่นนี้ เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานเหล่านี้บอกว่าถูกหักค่าแรงโดยไม่ทราบเหตุผลแทบทุกงวด นอกจากนี้ แรงงานส่วนหนึ่งยังบอกถึงปัญหาการทำร้ายร่างกาย การไม่ให้กินอาหาร ซึ่งเป็นการลงโทษแรงงานที่ไม่เชื่อฟังด้วย

คนงานลาวคนหนึ่งบอกว่าตอนมาสมัครงาน เขาได้รับการยืนยันว่าเรือประมงจะกลับเข้าฝั่งทุก 15 วัน แต่ภายหลังทราบว่าเขาจะต้องทำงานในเรือต่อเนื่องกันนานถึงสองปี เมื่อเขาไม่ยอมลงเรือก็ถูกกัปตันทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง และหลังจากทนทำงานนานห้าเดือน จึงสามารถหลบหนีได้สำเร็จระหว่างที่เรือเข้าเทียบท่า

ข่าวของเอพี บอกด้วยว่ากระแสข่าวเรื่องความทารุณโหดร้ายในเรือประมงไทย เริ่มได้รับกระแสตอบรับจากนานาชาติ ร่วมกันกดดันอุตสาหกรรมประมงของไทยให้ดูแลปัญหาดังกล่าว เช่น อียู ที่มีการประกาศตั้งกำแพงต่อต้านสินค้าอาหารทะเลจากประเทศที่มีปัญหาแรงงานทาส ขณะที่สหรัฐฯ ก็ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าที่มาจากแรงงานทาสเช่นกัน แต่แรงกดดันที่จะส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมงไทย ควรจะมาจากผู้บริโภคอาหารทะเล และว่าปัจจุบันนี้ มีความพยายามของกลุ่มผู้บริโภค ที่กำลังกดดันผู้จัดจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ๆ ให้เลิกทำการค้ากับคู่ค้าที่พัวพันกับปัญหาแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ เช่น วอล-มาร์ท ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศใช้มาตรฐานใหม่ที่สูงขึ้นในการจัดซื้อสินค้าอาหารทะเลเข้ามาจำหน่ายในร้าน หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนที่ลงลายมือชื่อโดยลูกค้ากว่าหนึ่งแสนคน.