posttoday

IMFเตือนโลกตั้งรับวิกฤต

25 สิงหาคม 2556

ไอเอ็มเอฟเตือนทุกชาติเร่งสร้างแนวป้องกันเพิ่ม รับวิกฤตประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ไอเอ็มเอฟเตือนทุกชาติเร่งสร้างแนวป้องกันเพิ่ม รับวิกฤตประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

คริสทีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในงานการประชุมใหญ่ประจำปีที่แจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิงของสหรัฐ ว่าทั่วโลกยังจำเป็นต้องสร้างแนวปราการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและรับมือวิกฤตรอบใหม่ที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้จากบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี)

“แม้แต่เขื่อนที่คิดว่าสร้างอย่างดีที่สุดก็อาจจะมีรอยรั่วได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างแนวป้องกันเพิ่ม และเป็นปราการที่สะท้อนให้เห็นว่าเรายังพึ่งพาและมีส่วนรับผิดชอบในเศรษฐกิจโลกร่วมกัน” ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าว

ทั้งนี้ ความเห็นข้างต้นมีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลของรัฐบาลหลายประเทศที่มีต่อความปั่นป่วนผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ของหลายประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย และอินโดนีเซีย โดยผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยังใช้โอกาสในการตอกย้ำความเชื่อมั่นของรัฐบาลและนักลงทุนทั่วโลกด้วยการระบุว่า ไอเอ็มเอฟพร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายและให้การสนับสนุนด้านการเงินผ่านเครื่องมือหลากหลายรูปแบบของทางกองทุน เช่น การพร้อมอนุมัติให้เงินช่วยเหลือให้กับประเทศที่ประสบปัญหาในการระดมทุนผ่านตลาดเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตก่อตัวลุกลาม

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟจะไม่ได้เอ่ยเจาะจงถึงประเทศใด แต่การเอ่ยถึงเครื่องมือทางการเงินของกองทุน ถือเป็นการสะท้อนความคิดของลาการ์ดว่าเครื่องมือเหล่านี้จะมีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งยวดในกรณีที่สถานการณ์ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เลวร้ายมากขึ้นจากปัจจุบัน

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า ความเป็นไปได้ที่เฟดจะชะลอการซื้อคืนพันธบัตรทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ปรับร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนแห่เทขายเพื่อนำเงินมาลงทุนในสหรัฐ เกิดเป็นภาวะทุนไหลออกที่สั่นคลอนเสถียรภาพตลาดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จนธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น บราซิล ประกาศแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ลาการ์ดได้แสดงความเห็นว่า หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะชาติที่มีการฟื้นตัวอ่อนแออย่างยุโรปและญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องพึ่งพานโยบายการเงินและมาตรการกระตุ้นต่างๆ จากภาครัฐ รวมถึงธนาคารกลางของประเทศ โดยเห็นว่าการเลิกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินและนโยบายอัตราดอกเบี้ยถูกเร็วเกินไปอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยังแนะให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกปรับวางกลยุทธ์อย่างรอบคอบหากจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยคำนึงถึงพื้นฐานความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจแต่ละประเทศเป็นสำคัญ