posttoday

ตึกระฟ้าครบวงจร...ชีวิตแนวตั้งในอนาคต

30 มิถุนายน 2556

“ตึกระฟ้าครบวงจร” ที่พร้อมสรรพไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นทั้งศูนย์กลางการขนส่ง พื้นที่การเกษตร ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตพลังงาน

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

ลองจินตนาการโลกในอีกราว 40 ปีข้างหน้า ซึ่งว่ากันว่า จำนวนประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 9,000 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้จะอาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 6,300 ล้านคน

...สภาพของเมืองในวันนั้นจะเป็นเช่นไร

สำหรับ อารัป บริษัทเจ้าของผลงานออกแบบอาคารที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เช่น ซิดนีย์ โอเปรา เฮ้าส์ จินตนาการไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ตึกสูงแห่งอนาคต ที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็น “ที่พักอาศัย” หรือ “ที่ทำงาน” ของคนเมืองเท่านั้น ทว่า กลายสภาพเป็น “ตึกระฟ้าครบวงจร” ที่พร้อมสรรพไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นทั้งศูนย์กลางการขนส่ง พื้นที่การเกษตร ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคนเมืองครบครันภายในตึกเดียว

ในรายงานที่มีชื่อว่า “อิส อไลฟ์ ตึกแห่งปี 2050” ความพิเศษสุดของตึกแห่งอนาคตนี้ คงต้องยกให้กับ “รูปทรงภายนอก” ที่ไม่เพียงแต่มีความสูงเสียดฟ้า แต่ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเกลียวคลื่น เพื่อให้ส่วนประกอบแต่ละชั้น สามารถแยกชิ้นส่วน ปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้าย ตลอดจนซ่อมแซมตัวเองได้ตลอดเวลา ด้วยระบบคอมพิวเตอร์หุ่นยนต์มือกลอัตโนมัติ ตามความต้องการของผู้อยู่ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต่างอะไรกับการถอดชิ้นส่วนตัวต่อเลโก้

หากคิดว่าภายนอกล้ำสมัยแล้ว ต้องลองก้าวเข้ามาด้านในอาคารเพื่อสัมผัสความ “อัจฉริยะ” ของระบบการจัดการภายในอาคารที่ทำงานเชื่อมต่อกันแบบรวมศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า อุณหภูมิ การระบายอากาศ ไปจนถึงการจัดการระบบน้ำ ขยะ โทรคมนาคม และระบบรักษาความปลอดภัย เปิดทางให้ประชากรในตึก สามารถบริหารจัดการได้แบบเรียลไทม์นาทีต่อนาทีรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

แน่นอนว่าตึกต้นแบบแห่งปี 2050 นี้ ไม่ได้แปลกตาแต่เพียงรูปทรงภายนอกเท่านั้น เพราะยังสามารถหลอมรวมความ|เป็นอยู่ของ “มนุษย์อนาคต” ให้เข้ากับธรรมชาติไว้ได้อย่างกลมกลืน เพราะสามารถ “ผลิตพลังงานได้ด้วยตัวเองมากกว่าที่เผาผลาญใช้ไป”

ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ พื้นผิวรอบนอกตัวอาคารทั้งหมด ที่ถูกฉาบด้วยสีชนิดพิเศษ ที่ไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังสามารถกรองมลภาวะจากภายนอก ทั้งฝุ่นละออง มลพิษ หรือแม้กระทั่งเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเทคนิคเพาะปลูกสาหร่ายและเยื่อต้นไม้หุ้มอาคารมาใช้ เพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และทำหน้าที่เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน ช่วยฟอกอากาศในเมืองแบบวิถีธรรมชาติได้อีกแรงหนึ่ง

นอกจากนี้ อาคารแต่ละชั้น ได้ถูกจัดสรรให้เป็น “แหล่งผลิตพลังงานทางเลือกแบบรวมศูนย์” สลับกับพื้นที่ใช้สอยได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็น “ชั้นกักเก็บน้ำฝน” บนดาดฟ้าที่มีระบบเชื่อมต่อส่งตรงมาหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ภายในอาคารอย่างไร้รอยต่อ ที่มาพร้อมกับระบบรีไซเคิลน้ำอัจฉริยะ ซึ่งซ่อนตัวอยู่สลับชั้นกับ “ชั้นกังหันลม” ที่คอยกลั่นความชื้นในอากาศ ให้เป็นน้ำดื่มสะอาดสำหรับผู้คนในอาคารอีกด้วย

ที่สำคัญ ตัวอาคาร ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางผลิตและจัดเก็บทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อาหาร พลังงาน จนถึงน้ำ หรืออาจเรียกว่าเป็น “คอนโดแห่งเกษตรกรรม” เลยก็ว่าได้

และที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ การรวมศูนย์การขนส่งแบบสาธารณะทุกรูปแบบไว้เป็นหนึ่งเดียวกับโครงสร้างของอาคารได้อย่างสมดุล เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเมือง สามารถเข้าถึงบริการทั้งรถไฟใต้ดิน ระบบการแบ่งปันรถยนต์และจักรยานสุดล้ำ ได้อย่างง่ายดายแค่เพียงเดินลงมาชั้นใต้ดิน หรือแม้แต่บริการกระเช้าลอยฟ้า ที่ส่งตรงถึงอาคารสูงปลายทางถึงที่เลยทีเดียว

เรียกได้ว่า หากจินตนาการ “ตึกแห่งอนาคตต้นแบบแห่งนี้” กลายเป็นจริงเมื่อไร เราอาจไม่ได้เห็น “มนุษย์เดินดิน” อีกต่อไป เพราะพวกเราอาจย้ายขึ้นไปปักหลัก “พื้นที่บนฟ้า” กันหมดแล้ว

ตึกระฟ้าครบวงจร...ชีวิตแนวตั้งในอนาคต ตึกขน

"ตึกขน"...ผลิตไฟฟ้าได้เอง

อีกหนึ่งจินตนาการดีไซน์ตึกสูงที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน คงหนีไม่พ้น “ตึกขน” หรือ “ตึกหลอด” (Strawscraper) ผลงานออกแบบของชาวสวีเดน

เส้นขนปกคลุมทั่วทั้งตึกนี้ แท้ที่จริงแล้วคือกลุ่มเส้นไฟเบอร์บางเฉียบทำจากวัสดุ “เพียโซอิเล็กทริก” ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่อได้รับแรงกลใดๆ ซึ่งรวมถึงแรงลมที่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ ก็จะให้แรงดันไฟฟ้า

เรียกได้ว่า ทันทีที่ลมกระทบกับเส้นไฟเบอร์ให้สั่นไหวแม้เพียงเล็กน้อย เส้นไฟเบอร์ก็จะพร้อมใจกันผลิตกระแสไฟฟ้าในทันที ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ล้ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเงียบและรบกวนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ น้อยที่สุด

ตึกระฟ้าครบวงจร...ชีวิตแนวตั้งในอนาคต ตึกไม้

"ตึกไม้"...สูงสุดในโลก

แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ตึกระฟ้าแห่งนี้ทำมาจาก “ไม้” ทว่าบริษัทผู้ออกแบบ ซี.เอฟ.มิลเลอร์ แห่งสวีเดน คอนเฟิร์มว่าเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และทนไฟ มากกว่าเหล็กและคอนกรีตที่ใช้สร้างตึกในปัจจุบันเสียอีก เนื่องจากไม้ชนิดดังกล่าว มีส่วนประกอบของน้ำในเนื้อไม้สูงถึง 15%

นอกจากนี้ การใช้ไม้สร้างตึกระฟ้าแห่งนี้ ยังมีราคาถูก ขนส่งสะดวก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้างน้อยกว่าแบบปกติอีกด้วย

แม้ว่าสวีเดนจะมีการสร้างตึกไม้ในลักษณะเดียวกันบ้างแล้ว ทว่าหากมีการสร้างขึ้นจริงในกรุงสตอกโฮล์มในเร็ววันนี้ ตึกไม้ความสูง 34 ชั้นนี้ จะถือเป็นตึกไม้ที่มีความสูงที่สุดในโลกเลยทีเดียว