posttoday

"ผู้นำอินเดีย"เยือนไทยเปิดประตูเชื่อมAEC

30 พฤษภาคม 2556

สัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีอินเดีย "มันโมฮัน ซิงห์" กับมุมมองต่อไทยและกลุ่มอาเซียน

โดย...พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการอำนวยการ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง

สัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีอินเดีย มันโมฮัน ซิงห์ เกี่ยวกับมุมมองต่อประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน ในโอกาสที่ผู้นำอินเดียจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พ.ค.นี้

@อินเดียมองความสำคัญของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งหมดอย่างไร และอินเดียในฐานะที่เป็นมหาอำนาจมองบทบาทของตนเองในภูมิภาคนี้อย่างไร

อินเดียและไทยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และการค้ามาอย่างยาวนาน อีกทั้งไทยยังอยู่ในจุดที่เป็นประตูเชื่อมสู่ภูมิภาคอาเซียนจึงมีความสำคัญมาก ไทยและอินเดียได้พัฒนาความสัมพันธ์ในทุกสาขาความร่วมมือ ทั้งการเมืองและความมั่นคง และยังมีความร่วมมือที่ดีระหว่างกันในหลายด้าน

อินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียนผ่านนโยบาย “ลุคอีสต์” มาตลอด 20 ปี ปัจจุบันอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลัก และยังเป็นจุดหมายการลงทุนลำดับต้นๆ ของอินเดีย เรายังมองไปถึงความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียนเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความรุ่งเรืองของภูมิภาค

@การเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีไทยในปี 2012 นั้น ช่วยสร้างมุมมองต่อกันที่ดีหรือไม่ ก้าวต่อไปนั้นจะเป็นเช่นไร และอินเดียจะนำเสนออะไรให้กับอาเซียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเชื่อมโยงระหว่างกัน

การเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้น ซึ่งได้มีความริเริ่มตกลงใหม่ๆ ที่สำคัญหลายด้าน ส่วนการเยือนไทยที่จะถึงนี้ เราจะพยายามบรรลุเป้าหมายที่ทำมาตลอดและแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ

ไทยเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างเอเชียใต้และอาเซียน ดังนั้นโครงการถนนเชื่อมต่อไฮเวย์สามฝ่ายผ่านไปทางเมียนมาร์ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาร่วมกัน ผู้ประกอบการของเรายังต้องการที่จะร่วมในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาร์อีกด้วย ซึ่งจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อทางบกระหว่างอาเซียนกับอินเดียเข้าด้วยกัน

@มีแนวโน้มที่คนไทยจะนิยมไปเที่ยวสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธในอินเดีย หากโครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนา ปัจจุบันอินเดียได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วอย่างไรบ้าง และรัฐบาลอินเดียจะขยายอายุวีซ่าให้นักท่องเที่ยวไทยเหมือนในบางชาติอาเซียนหรือไม่

ปัจจุบันเราได้พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและศาสนสถานให้ดีขึ้นแล้ว ทว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เราจึงเชิญชวนบริษัทเอกชนจากไทยเข้ามาร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น และเราจะอำนวยความสะดวกแก่การเข้ามาลงทุน

นอกจากนั้น เรากำลังพิจารณาให้มีการจัดตั้งระบบการเอื้ออำนวยความสะดวกการขอวีซ่าแบบ Visa-on arrival ซึ่งทำให้ผู้ขอไม่จำเป็นต้องไปขอที่สถานทูต และสามารถรับวีซ่าได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเลย ถึงกระนั้นก็ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบไอทีและโครงสร้างที่จำเป็นก่อน

@การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและอินเดียจะมีขึ้นเมื่อใด และปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวเผชิญอุปสรรคด้านใดบ้าง

เอฟทีเอจะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ดังนั้น รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจึงต้องการให้กระบวนการเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันยังคงเหลือบางประเด็นที่ต้องหารือกันต่อไป

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่รูปแบบใหม่บนพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมและความรู้นั้น อินเดียมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านไอซีที ไบโอเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เราต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย เช่น ท่าเรือ ถนน โรงงานไฟฟ้า โรงงานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนโรงงานแปรรูปอาหาร เอฟทีเอจึงต้องครอบคลุมประเด็นเหล่านี้ด้วย

@ที่ผ่านมาเอกชนอินเดียเริ่มขยายกิจการสู่อาเซียนมากขึ้น ในอนาคตบริษัทของรัฐจะเข้าไปลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะด้านพลังงานและการรถไฟ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันบ้างหรือไม่

ทั้งบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจของอินเดียกำลังสยายปีกลงทุนในต่างประเทศและในอาเซียนมากขึ้น สำหรับเราการยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาคนับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยปัจจุบันรัฐวิสาหกิจอินเดียหลายแห่งได้เข้าไปลงทุนในอาเซียนบ้างแล้ว เช่น ไรทส์ (RITES) ได้เข้าไปร่วมก่อสร้างถนนเชื่อมอินเดีย เมียนมาร์ และไทย เช่นเดียวกับองค์การก๊าซแห่งอินเดีย ซึ่งไปสำรวจน้ำมันนอกชายฝั่งเมียนมาร์ ส่วนภาคเอกชนนั้นได้ลงทุนในไทยแล้วและรัฐบาลก็เล็งเห็นโอกาสสำหรับธุรกิจอินเดียในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย

@บริษัทอินเดียวางแผนเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์โดยเฉพาะในโครงการทวาย และภาคส่วนอื่นๆ หรือไม่

เมียนมาร์ถือเป็นประตูสู่อาเซียนของอินเดีย และมีบทบาทสำคัญต่อความร่วมมือระดับภูมิภาค เรามุ่งให้ความช่วยเหลือเมียนมาร์พัฒนาเศรษฐกิจ โดยพันธมิตรของเรากับเมียนมาร์นั้นครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการพัฒนาชายแดน โครงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ การพัฒนาองค์กร รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เรายังมองว่าโครงการท่าเรือและเขตเศรษฐกิจทวายมีศักยภาพเติบโตเป็นหนึ่งในศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งจะช่วยให้การขนส่งทางเรือไปยังท่าเรือต่างๆ ในอินเดียรวดเร็วขึ้น แน่นอนว่าบริษัทอินเดียที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานล้วนสนใจเข้าไปลงทุนโครงการเหล่านี้