posttoday

ศาลผู้ดีจับคุก10ปีผู้ผลิตจีที200

02 พฤษภาคม 2556

ศาลอังกฤษพิพากษาจำคุกผู้ผลิตจีที200เป็นเวลา 10 ปี คดีตุ๋นขายเครื่องตรวจจับบึ้มปลอมในหลายประเทศรวมทั้งไทย

ศาลอังกฤษพิพากษาจำคุกผู้ผลิตจีที200เป็นเวลา 10 ปี คดีตุ๋นขายเครื่องตรวจจับบึ้มปลอมในหลายประเทศรวมทั้งไทย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นประเทศอังกฤษ นายริชาร์ด ฮอน ผู้พิพากษาศาลกรุงลอนดอน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา โดยมีคำตัดสินให้จำคุกนายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษเป็นเวลา 10 ปี จากความผิดขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด(จีที200)ที่ใช้งานไม่ได้จริงและไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่รัฐบาลอิรักและอีกหลายประเทศ และเห็นว่า การขายเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้งานไม่ได้จริงของนายแมคคอร์มิคเป็นการหลอกลวง น่าจะเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ผู้พิพากษากล่าวต่อไปว่า นายแมคคอร์มิค ได้กล่าวอวดอ้างต่อรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่า เครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดของเขาสามารถตรวจหาระเบิด ยาเสพติด งาช้าง แม้กระทั่งคน ทำให้เชื่อได้ว่า นายแมคคอร์มิคขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้งานไม่ได้จริง โดยเฉพาะกับอิรักเพียงประเทศเดียว ทำเงินสูงถึง 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,073 ล้านบาท ถึงแม้มีลูกค้าชาติอื่นๆ ที่ซื้อเครื่องมือปลอมของนายแมคคอร์มิค รวมทั้งจอร์เจีย ไนเจอร์ เบลเยียม และเลบานอน รวมถึงสหประชาชาติ รวมแล้วประมาณ 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2,204 ล้านบาท

นายแมคคอร์มิคให้การต่อศาลว่า เขายังขายเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดให้แก่กองทัพอียิปต์ ตำรวจคูเวต กรมราชทัณฑ์ของฮ่องกง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ นายแมคคอร์มิคยังบอกด้วยว่า เครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดของเขายังเคยถูกนำไปใช้ตรวจความเรียบร้อยที่โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศโรมาเนีย ก่อนการเดินทางมาถึงเพื่อเข้าพำนักในโรงแรมของประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งนายแมคคอร์มิคยืนยันว่า เขาไม่เคยได้รับผลในแง่ลบจากลูกค้า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะลูกขุนแห่งศาลโอลด์ ไบเลย์ ในกรุงลอนดอนมีคำวินิจฉัยว่า นายแมคคอร์มิควัย 57 ปีกระทำผิดจริงตามข้อหาฉ้อโกง 3 กระทง ส่วนอัยการชี้แจงต่อคณะลูกขุนว่า นายแมคคอร์มิคเป็นคนออกแบบอุปกรณ์ค้นหาลูกกอล์ฟ ที่เขาซื้อจากสหรัฐระหว่างปี 2548 ถึง 2549 พร้อมกับมีเซ็นเซอร์การ์ดเป็นรหัสสีต่างๆ เช่น ระเบิดจะเป็นสีส้ม ยาเสพติดจะเป็นสีฟ้า และคนจะเป็นสีแดง ปรากฏขึ้นในแต่ละช่องเมื่อเครื่องมือทำงาน ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 มีคนส่งคำเตือนถึงรัฐบาลอังกฤษว่า นายแมคคอร์มิคจำหน่ายเครื่องตรวจระเบิดปลอม ที่อาจทำให้ผู้ใช้งานเสี่ยงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งปี 2553 จึงมีคำสั่งระงับการส่งออกอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังอัฟกานิสถานและอิรัก ทำให้นายแมคคอร์มิคถูกจับกุมในที่สุด