posttoday

แผนบีโอเจดันบอนด์ญี่ปุ่นผันผวนแรง

11 เมษายน 2556

นิกเกอิ หุ้นญี่ปุ่นพุ่งอีกครั้งท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยน ขณะที่แผนบีโอเจดันความเสี่ยงบอนด์ญี่ปุ่นพุ่งราคาผันผวนแรง

นิกเกอิ หุ้นญี่ปุ่นพุ่งอีกครั้งท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยน ขณะที่แผนบีโอเจดันความเสี่ยงบอนด์ญี่ปุ่นพุ่งราคาผันผวนแรง

ดัชนีหุ้นนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดที่ระดับ 13,549.16 จุด เพิ่มขึ้น 261.03 จุด +1.96% หุ้นในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นอีกครั้งท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเร็วๆนี้ โดยหุ้นการเงินปรับตัวขึ้นมากสุด และหุ้นส่งออกยังคงได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยนแม้ว่าอัตราการดีดตัวจะลดลงก็ตาม

สมาคมนักวิเคราะห์การเงินแห่งสหภาพยุโรป (อีเอฟเอฟเอเอส) และบลูมเบิร์ก เผยข้อมูลตลาดพันธบัตรรัฐบาลใน 25 ประเทศทั่วโลก พบว่าพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะผันผวนของราคารุนแรง ที่ทำให้นักลงทุนเสี่ยงขาดทุนมากขึ้น โดยบอนด์อายุมากกว่า 10 ปี ปรับเพิ่มถึง 14.8% จากเดิม 12% ในระยะเวลาเพียง 10 วัน ส่งผลให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีความผันผวนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรีซ สวนทางกับสถานะของบอนด์ญี่ปุ่นในอดีต โดยในปี 2554 บอนด์ญี่ปุ่นจัดอยู่ในตราสารหนี้ที่มีเสถียรภาพด้านราคาและเหมาะกับการเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยมากที่สุด

รายงานระบุว่า ความผันผวนข้างต้นเป็นผลจากมาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรครั้งใหญ่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งคิด เป็นปริมาณที่มากกว่านักวิเคราะห์คาดกันไว้ก่อนหน้า ทำให้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ทำสถิติต่ำสุดที่ 0.315% ก่อนที่ในวันเดียวกันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว กระทั่งตลาดหลักทรัพย์โตเกียวต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราว 2 รอบ เพื่อสกัดความผันผวนที่เกิดขึ้น

มาโกโตะ ซูซูกิ นักกลยุทธ์อาวุโสด้านตลาดพันธบัตรจากโอกาซัง ซิเคียวริตี ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า มาตรการของบีโอเจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรน้อยลง จนไม่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนอีกต่อไป เพราะผู้ถือพันธบัตรอาจประสบภาวะขาดทุนได้ เช่น ถ้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 30 ปี มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ซื้อมีสิทธิขาดทุนราว 2.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ในทันทีที่อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 1%

ขณะที่ โทรุ ยามาโมโตะ หัวหน้านักกลยุทธ์จากไดวะ ซิเคียวริตี ประจำกรุงโตเกียว เสริมว่า สถานะของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนี้ กลายเป็นพันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งนักลงทุนไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดพันธบัตรเพิ่มเติม