posttoday

ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจีนดิ่ง

03 กุมภาพันธ์ 2556

จีนเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2555 ดิ่ง ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีเงินทุนพุ่ง เหตุกระแสทุนไหลออก

จีนเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2555 ดิ่ง ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีเงินทุนพุ่ง เหตุกระแสทุนไหลออก

สํานักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (เอสเอเอฟอี) เผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นตัววัดกว้างๆ ของดุลการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.39 ล้านล้านบาท) จาก 2.01 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 6.03 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยลดลง 0.2% มาอยู่ที่ 2.6% ของจีดีพี

ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นปริมาณเงินทุนไหลออกนอกประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา ทุบสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการเริ่มบันทึกในปี 2525 ที่ 1.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.51 ล้านล้านบาท) สวนทางกับปี 2554 ที่มียอดเกินดุลสูงถึง 1.86 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 5.58 ล้านล้านบาท) โดยเป็นผลจากสภาพซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออก

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าความเคลื่อนไหวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารกลางจีนเริ่มผ่อนปรนการใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินเพื่อกดเงินหยวนให้อ่อนค่าลงแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนต้องออกมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาเงินหยวนแข็งค่า ซึ่งเป็นผลกระทบของกระแสเงินทุนต่างประเทศที่ไหลทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“หลายฝ่ายอาจกังวลว่ายอดบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ขาดดุล อาจหมายถึงกระแสเงินทุนไหลออก แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดการแทรกแซงของธนาคารกลางจีนเช่นกัน” หวงอี้ผิง นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ส ระบุ

แนวโน้มการชะลอใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินของจีน ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2555 ขณะที่สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 9.87 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.961 ล้านล้านบาท) โดยปรับตัวลดลงถึง 74% เมื่อเทียบเป็นรายปี

อย่างไรก็ตาม ทางเอสเอเอฟอี ยืนยันว่า การขยายตัวของสัดส่วนเงินทุนสำรองประเทศที่ลดลงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน โดยให้เหตุผลว่า แบงก์ชาติเตรียมพร้อมปรับสภาพคล่องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางจีนดำเนินนโยบายแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราด้วยการทุ่มซื้อสกุลเงินต่างประเทศในปริมาณมาก เพื่อรับมือกับการไหลทะลักเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เงินหยวนแข็งค่าเป็นเหตุให้สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2554 พุ่งสูงถึง 3.84 แสนเหรียญสหรัฐ