posttoday

เตือนเฟดขยาย'คิวอี3'ไร้ผลฟื้นศก. หวั่นจุดชนวนเงินเฟ้อ

13 ธันวาคม 2555

นักวิเคราะห์เตือนแผนขยายคิวอี 3 ของเฟด ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมะกัน เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ชี้งบดุลธนาคารกลางเฉียด 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นักวิเคราะห์เตือนแผนขยายคิวอี 3 ของเฟด ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมะกัน เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ชี้งบดุลธนาคารกลางเฉียด 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

นักวิเคราะห์เตือนแผนขยายคิวอี 3 ของเฟด ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมะกัน เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ชี้งบดุลธนาคารกลางเฉียด 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นักวิเคราะห์ออกโรงเตือนว่า การขยายมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบที่ 3 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ รวมทั้งเสี่ยงทำให้สหรัฐต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้าที่การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา

วอลสตรีตเจอร์นัลเผยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในสหรัฐ พบว่า มากถึง 52% คัดค้านการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมของเฟด ขณะที่ 48% สนับสนุนมาตรการดังกล่าว

สาเหตุหลักที่ทำให้นักวิเคราะห์คัดค้านแผนดังกล่าวเป็นเพราะส่วนใหญ่เชื่อว่า การกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไม่ได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ โดยที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว ทว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า

“เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบน้อยมากจากการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมเฟดต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว แต่ศักยภาพของคิวอีก็มีขีดจำกัด” แคทเธอรีน แมนน์ จากมหาวิทยาลัย แบรนไดส์ในสหรัฐ กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ ไนเจล โกล์ท นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิเคราะห์ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ว่า แม้ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ทว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการฟื้นตัวคือ ความยากลำบากในการเข้าถึงสินเชื่อของชาวอเมริกัน ขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่เลือกที่จะรีไฟแนนซ์สินเชื่อแทนที่จะกู้เงินใหม่ ส่งผลให้มีเงินลงทุนน้อยกว่า

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังกังวลว่า การซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมของเฟดอาจกระทบกลไกของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้พันธบัตรระยะยาวมีราคาสูงขึ้น ทว่า ในขณะเดียวกัน ไม่กระตุ้นการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน รวมทั้งยังเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

“หากเศรษฐกิจเริ่มแข็งแกร่งมากขึ้น เฟดก็ต้องเริ่มขายพันธบัตรที่ได้ซื้อไว้ ซึ่งหากอุปสงค์ไม่เพียงพอ เฟดจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าจะจุดชนวนปัญหาเงินเฟ้อ” รายงานของยูเอสเอทูเดย์ ระบุ

ด้านบลูมเบิร์กรายงานอ้างนักลงทุน ซึ่งคาดการณ์ว่า การขยายมาตรการคิวอี 3 จะดันอัตราเงินเฟ้อของเมืองลุงแซมพุ่งสูงเกินระดับ 2% ซึ่งเป็นเพดานที่เฟดกำหนด ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ จากระดับปัจจุบันที่ 1.7%

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่า เฟดจะประกาศขยายคิวอี 3 หลังการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของปีสิ้นสุดลง เนื่องจากเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้ส่งสัญญาณพร้อมเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) ต่อเดือน เพื่อทดแทนโครงการ “โอเปอเรชัน ทวิสต์” ที่จะหมดอายุลงสิ้นปีนี้ โดยอ้างว่าการเข้าซื้อพันธบัตรจะช่วยกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น

การขยายคิวอี 3 จะส่งผลให้มูลค่าพันธบัตรทั้งหมดที่ธนาคารกลางเข้าซื้อปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) ต่อเดือน ซึ่งจะทำให้งบดุลของธนาคารกลางพุ่งสูงแตะ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 124 ล้านล้านบาท) จากระดับปัจจุบันที่ 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 90 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม แม้จะส่งสัญญาณพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ทว่า เบน เบอร์แนนคี ประธานเฟด ก็ได้ย้ำชัดมาโดยตลอดว่า เฟดไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะกู้เศรษฐกิจของประเทศหากรัฐบาลล้มเหลวในการผ่าทางตันหน้าผาการคลัง

ล่าสุด มีรายงานว่า การเจรจาตัดลดงบประมาณระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีความคืบหน้าที่ดี โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ และจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอตัดลดงบประมาณฉบับใหม่แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเริ่มส่งสัญญาณประนีประนอมในบางหัวข้อของการเจรจาแล้ว

ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกปีหน้า จะยังคงผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงของปัญหาหน้าผาการคลัง ทว่าล่าสุด สำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2556 ขึ้นจากคาดการณ์เดิมในเดือนที่แล้ว จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะชดเชยความต้องการที่ลดลงในยุโรป โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปีหน้าจะอยู่ที่วันละ 90.5 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 1.1 แสนบาร์เรลต่อวัน