posttoday

HSBC จ่ายค่าปรับโหด5.7หมื่นล. ยุติคดีฟอกเงิน รักษาภาพลักษณ์

12 ธันวาคม 2555

ธนาคารเอชเอสบีซีประกาศควักเงิน 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายศาลมะกัน หวังยุติคดีฟอกเงิน หวั่นทำลายภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นธนาคาร หากยืดเยื้อล่าช้า

ธนาคารเอชเอสบีซีประกาศควักเงิน 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายศาลมะกัน หวังยุติคดีฟอกเงิน หวั่นทำลายภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นธนาคาร หากยืดเยื้อล่าช้า

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ธนาคารเอชเอสบีซีประกาศควักเงิน 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายศาลมะกัน หวังยุติคดีฟอกเงิน หวั่นทำลายภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นธนาคาร หากยืดเยื้อล่าช้า

เอชเอสบีซี ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคยุโรปสัญชาติอังกฤษ ออกแถลงการณ์ระบุการตัดสินใจจ่ายเงินค่าปรับมูลค่า 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.7 หมื่นล้านบาท) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. เพื่อยุติคดีฟอกเงินตามข้อกล่าวหาของศาลสหรัฐ ซึ่งทางเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า ยิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคาร

นอกจากยอมเสียค่าปรับเพื่อยุติคดีอื้อฉาวดังกล่าวแล้ว แถลงการณ์จากธนาคารเอชเอสบีซียังได้เดินหน้ายกระดับมาตรการป้องกันการฟอกเงินของธนาคารให้มีความเข้มงวดครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญคือการบรรลุข้อตกลงกับบรรดาหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐเพื่อช่วยสืบสวนตรวจสอบ ขณะเดียวกันทางธนาคารยังอยู่ในระหว่างการขยายความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานรัฐของประเทศอังกฤษ หลังจากที่ผ่านมาธนาคารเอชเอสบีซียอมรับว่ามาตรการป้องกันการฟอกเงินของธนาคารมีไม่เพียงพอ

“เราขอน้อมรับผิดชอบกับความผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้น เราเสียใจอย่างสุดซึ้ง เราเสียใจจริงๆ” สจวร์ต กัลลิเวอร์ ประธานบริหารธนาคารเอชเอสบีซีกล่าวในแถลงการณ์

ด้านเจ้าหน้าที่กฎหมายของสหรัฐ เปิดเผยว่า ธนาคารเอชเอสบีซี ต้องจ่ายเงินค่าปรับ 1,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นจำนวนค่าปรับที่สูงที่สุด และจ่ายอีก 655 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับชดเชยค่าเสียหายที่ต้องชำระให้กับภาครัฐ ส่งผลให้การจ่ายค่าปรับในครั้งนี้ทุบสถิติเป็นค่าปรับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การฟ้องร้องดำเนินคดีที่มีธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้อง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ภายใต้ข้อตกลงที่จะประนีประนอมยอมความ ทางการสหรัฐจะตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยความลับของธนาคารและกฎหมายห้ามค้ากับชาติศัตรูกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ซึ่งวัดจากมูลค่าตลาด โดยธนาคารเอชเอสบีซีจะต้องยอมรับว่าได้ละเมิดข้อกำหนดบางประการในกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นจริง

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของข้อตกลงประนีประนอมยังไม่มีการเปิดเผยจากศาลนิวยอร์กแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อตกลงแลกกับการยอมจ่ายค่าปรับของธนาคารจะส่งผลให้ธนาคารเอชเอสบีซีไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การสืบสวนตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อีกต่อไป ถ้าสามารถปรับตัวให้ได้ตามเงื่อนไขที่มีร่วมกัน เช่น การเสริมระบบควบคุมดูแลภายในเพื่อป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กระทรวงยุติธรรมนิยมใช้ในคดีความที่มีบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะที่ทางผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า การเร่งยุติคดีความทางศาลที่ธนาคารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้เร็วที่สุดนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะจะช่วยจำกัดผลเสียหายที่จะมีต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคาร ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานะความน่าเชื่อถือของธนาคารทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารรายใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเพิ่งจะลงนามประนีประนอมกับศาลนิวยอร์กเพื่อยุติคดีฟอกเงิน พร้อมยอมจ่ายเงินค่าปรับ 340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.02 หมื่นล้านบาท) หลังจากโดนกล่าวหาว่าธนาคารรับทำธุรกรรมทางการเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐให้กับรัฐบาลอิหร่าน

“ธนาคารเหล่านี้ดำเนินการภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่อาจแบกรับการสูญเสียความน่าเชื่อถือของชื่อเสียงได้ เพราะต้องพึ่งพาความเชื่อมั่นจากบรรดานักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งเหตุผลข้างต้นก็เพียงพออธิบายได้ว่าทำไมธนาคารต่างๆ จึงต้องการจบปัญหาให้เร็วที่สุด” ซาบิน บาวเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันการเงิน ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าว

ศาลนิวยอร์กของสหรัฐได้ตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายฟอกเงินให้กับธนาคารเอชเอสบีซี ภายหลังพบว่าธนาคารรับโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ให้กับบุคคล องค์กร และประเทศที่อยู่ภายในบัญชีดำของสหรัฐ เช่น พ่อค้ายาในเม็กซิโกหรือประเทศอิหร่าน เป็นต้น

ทั้งนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มยกระดับการตรวจสอบภาคการเงินการธนาคารอย่างละเอียด หลังจากเกิดวิกฤตทางการเงินและพฤติกรรมอื้อฉาวที่ไม่เหมาะสม โดยปัญหาการฟอกเงินถือเป็นเป้าหมายหลักของเจ้าหน้าที่สหรัฐ และนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ธนาคารหลายแห่ง เช่น เครดิต สวิส บาร์เคลย์ส ลอยด์ส และไอเอ็นจี ได้เสียค่าปรับให้กับทางการสหรัฐแล้ว เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายถ่านโอนเงินของบุคคล องค์กร หรือประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐ m

การจ่ายค่าปรับของธนาคารในยุโรปให้รัฐบาลสหรัฐ (ตั้งแต่ปี 2552)