posttoday

มธ.ทูลเกล้าถวายปริญญาเจ้าชายอากิชิโน

27 พฤศจิกายน 2555

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร แด่เจ้าชายอากิชิโน แห่งประเทศญี่ปุ่น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร แด่เจ้าชายอากิชิโน แห่งประเทศญี่ปุ่น

สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร แด่เจ้าชายอากิชิโน แห่งประเทศญี่ปุ่น พระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ด้วยพระอัจฉริยภาพของเจ้าชายอากิชิโน ที่ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัย "โครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่" ในประเทศไทย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก

เจ้าชายอากิชิโน แห่งประเทศญี่ปุ่น เสด็จพระราชดำเนินถึงอาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดี คณะผู้บริหาร และนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จ ในโอกาสนี้ ศ.ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี กราบทูลต้อนรับ และ รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กราบทูลสดุดีเฉลิมพระเกียรติ เจ้าชายอากิชิโน ที่ทรงสนพระทัยในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ด้านความสัมพันธ์ของคนและสิ่งมีชีวิตอื่น อาทิ ปศุสัตว์ ปลาน้ำจืด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ อันเป็นที่ประจักษ์แก่นักวิชาการเป็นอย่างดี ทรงมีผลงานทางวิชาการ ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก เช่น พระนิพนธ์ เรื่อง สมุดภาพไก่ในยุโรป ไก่กับคน : จากมุมมองชีวชาติพันธุ์วิทยา 

จากความสนพระทัยเป็นพิเศษในเรื่องไก่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยร่วมไทย-ญี่ปุ่น "Human-Chicken Multi-Relationships Research Project" (HCMR) –H.I.H. Prince Akishino’s Research under the Royal Patronage of H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn หรือ "โครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่" ในประเทศไทย เป็นโครงการที่รวมศาสตร์หลากสาขา อาทิ คติชนวิทยา มานุษยวิทยา นิเวศวิทยา สัณฐานวิทยา ภูมิสารสนเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ จึงสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากต่างสาขา และการบูรณาการต่างศาสตร์เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังมีความลุ่มลึกเชิงวิชาการของศาสตร์แต่ละด้าน จนสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้เรื่องไก่ในด้านต่างๆ อาทิ พหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของไก่ป่า ลักษณะทางพันธุกรรมของไก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านกระบวนการเลี้ยงไก่ที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการจากไก่ป่ามาสู่ไก่พื้นเมือง 

โครงการวิจัยดังกล่าวมีความสำคัญสำหรับคนในชนบท เนื่องจากไก่พื้นเมืองเป็นทั้งอาหารและระบบออมสินแบบกระแสรายวัน ช่วยให้เกิดความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจครัวเรือน ไก่ช่วยกำจัดแมลงศัตรูของคน พืชและสัตว์ โดยกินแมลงเป็นอาหาร เป็นการควบคุมแมลงแบบชีววิธี นอกจากนี้ไก่ยังใช้เศษอาหารจากครัวเรือนและเศษเหลือทางเกษตรเป็นอาหาร เป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นโครงการ HCMR จึงถือได้ว่าเป็นงานวิจัยระดับโลกที่สำคัญและสามารถตอบโจทย์ที่ว่าการวิวัฒนาการจากไก่ป่าเป็นไก่บ้านและไก่ไทย คือ ต้นแบบของไก่ทั่วโลก

ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะอันเนื่องมาจากความสนพระทัยในการวิจัยทางวิชาการ ดังปรากฏในงานวิจัยเรื่อง “คนกับไก่” ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม นับเป็นงานวิจัยที่ทำให้วงวิชาการของไทย ได้เห็นถึงความสำคัญและความหมายของการศึกษาที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งของสังคม จากการที่พระองค์ทรงอยู่ในฐานะผู้นำทางวิชาการที่มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ พระองค์ทรงมีบทบาทในการวิจัยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน อันแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของประเทศทั้งสองจากอดีตถึงปัจจุบัน