posttoday

"ญี่ปุ่น"ระส่ำศก.เสี่ยงถดถอย

13 พฤศจิกายน 2555

เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปีนี้หดตัว 3.5% นักวิเคราะห์เตือนเสี่ยงถดถอย

เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปีนี้หดตัว 3.5% นักวิเคราะห์เตือนเสี่ยงถดถอย

"ญี่ปุ่น"ระส่ำศก.เสี่ยงถดถอย

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศหดตัว 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือ 0.9% หากคิดเป็นรายไตรมาสในช่วงไตรมาสเดือน ก.ค.-ก.ย.ของปีนี้ นับเป็นสัญญาณอันตรายบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจแดนปลาดิบเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ภายหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเงินเยนแข็งค่า วิกฤตหนี้ในยุโรป รวมทั้งข้อพิพาทหมู่เกาะกับจีน

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทว่านับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์สึนามิเมื่อปีก่อน และจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทันที หากหดตัวอีกครั้งในไตรมาสหน้า

ด้านนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่นประกาศว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอถือเป็นปัญหาร้ายแรงของชาติ ทว่ายืนยันว่า ได้มอบหมายให้รัฐบาลร่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ให้เสร็จภายในเดือนนี้แล้ว

สอดคล้องกับความเห็นของ เซอิจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเตือนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจแดนปลาดิบได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐ ตลอดจนภาวะเงินเยนแข็งค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในจีนจากกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะ ซึ่งฉุดภาคส่งออกอย่างหนัก โดยเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทางการเผยตัวเลขการค้าประจำเดือน พบว่า เป็นตัวเลขเดือน ก.ย.ที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2522

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว เศรษฐกิจอินเดียยังส่งสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน โดยล่าสุดสำนักสถิติแห่งชาติเผยว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของประเทศหดตัวลง 0.4% ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขขาดดุลการค้าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดัง เตือนว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (จี 20) เสี่ยงเผชิญการเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอจนถึงปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี 20 จะขยายตัว 1.3% ในปีนี้ 1.6% ในปี 2556 และ 2.0% ในปี 2557

ในส่วนความเคลื่อนไหวของจีน ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า จีนเตรียมปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น

รายงานซึ่งอ้าง กัวซูฉิง ประธานคณะกรรมการกำกับการธนาคารแห่งชาติจีน ระบุว่า การปฏิรูปครั้งนี้ครอบคลุมถึงการเพิ่มโควตาสถาบันการลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของจีน รวมทั้งการอนุญาตให้นักลงทุนถือครองเงินหยวนในสัดส่วนที่มากขึ้นในต่างแดน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการดึงดูดเงินลงทุน หลังตลาดหุ้นจีนดิ่งลงอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา